HOT

ไฟเขียวจีนตั้งโรงงานแปรรูปยางในไทยแล้ว 3 ราย จาก 8 ราย
POSTED ON 02/07/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2558 ที่ผ่านมา ตัวแทนสมาชิกจากสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านแก่ง และชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยาง จ.จันทบุรี ซึ่งมีสมาชิกเครือข่าย 25 สหกรณ์ ในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้ขอเข้าพบเพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

 

นายจักรมณฑ์ ระบุว่า รัฐบาลมีนโยบายเร่งแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปยางพาราในไทย ซึ่งในการแก้ปัญหาระยะยาวนั้นทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศเพิ่มสัดส่วนการนำยางพารามาแปรรูปจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเพียง 12% หรือใช้ยางพารา 5.6 แสนตันต่อปี ให้เพิ่มเป็น 25% หรือใช้ยางพารากว่า 1 ล้านตันต่อปี ภายในสิ้นปี 2559 โดยได้เดินทางไปพบปะกับโรงงานผลิตล้อยางรถยนต์ในประเทศจีน 10 ราย เพื่อดึงดูดให้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตล้อยางในไทย

 

โดยผลจากการพบปะกับผู้ประกอบการจีน ได้มีโรงงานล้อยางจากจีนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว 8 ราย มูลค่าลงทุนเฉลี่ยแห่งละ 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เบื้องต้นได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้ว 3 แห่ง มูลค่าการลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ไทยส่งออกล้อยางรถยนต์ประมาณปีละ 1.2 แสนล้านบาท

 

นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งดำเนินการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมยางครบวงจร ที่ ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ด้วยงบลงทุนกว่า 700 ล้านบาท ซึ่งล่าสุด ครม.ได้อนุมัติให้ใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์ บริเวณ ถ.กาญจนวนิช ใกล้กับด่านสะเดา จ.สงขลา มีเนื้อที่รวม 1,800 ไร่ สำหรับใช้ก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จ.สงขลา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อกับนิคมอุตสาหกรรมยางฯได้ อีกทั้งยังสามารถต่อยอดในการดำเนินธุรกิจยางและอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ได้อีกด้วย

 

นายจักรมณฑ์ กล่าวว่า "การส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปยางพาราจะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางรถยนต์ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพารามากเป็นอันดับ 1 หรือคิดเป็น 60% ของปริมาณผลผลิตยางพาราทั้งหมด โดยยังมีแนวโน้มขยายตัวตามอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศที่คาดว่าปี 2558 จะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2.13 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 อยู่ที่ 12.7%"

 

"ขณะที่อุตสาหกรรมถุงมือยางและถุงมือตรวจที่ไทยเป็นผู้ส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก ยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นต้องใช้ในทางการแพทย์ ภาคอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือน รวมทั้งอุตสาหกรรมถุงยางอนามัยและอุตสาหกรรมเส้นด้ายยางยืดที่ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ก็มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง" นายจักรมณฑ์ กล่าว

 

ด้าน นายเดชา กุลชาติ เลขานุการ คณะกรรมการสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านแก่ง จำกัด กล่าวว่า "ภาพรวมโรงงานแปรรูปยางพาราขั้นต้นที่ได้รับการอนุญาตประกอบกิจการทั้งประเทศมีจำนวน 156 ราย และโรงงานแปรรูปยางพาราขั้นปลายที่ทำผลิตภัณฑ์ยางจากธรรมชาติหรือยางสังเคราะห์มีจำนวน 699 ราย ส่วนโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 553 ราย ซึ่งถือว่ายังมีจำนวนน้อย เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตยางดิบอันดับหนึ่งของโลก ดังนั้น การตั้งโรงงานจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการใช้วัตถุดิบในอุตสาหกรรมยางพาราเพิ่มขึ้นอีก"

 

"สำหรับโรงงานแปรรูปยางพาราของสหกรณ์บ้านแก่ง จำกัด จัดอยู่ในประเภทโรงงานลำดับที่ 52(3) เป็นโรงงานขั้นกลาง ซึ่งผลิตยางแผ่นรมควัน การทำยางเครป ยางแท่ง ยางน้ำ หรือการทำยางให้เป็นรูปแบบอื่นใดที่คล้ายคลึงกันจากยางธรรมชาติ โดยโรงงานในประเภทนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 923 ราย เป็นสหกรณ์ 447 ราย" นายเดชา กล่าว