HOT

ดันอุตฯยานยนต์ไทยผลิตชิ้นส่วนซับซ้อนเองแทนนำเข้า
POSTED ON 02/07/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นายสมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการสถาบันยานยนต์เกี่ยวกับแผนการดำเนินงานของสถาบันฯ ประจำปีงบประมาณ 2558-2564  เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2558 ที่ผ่านมา ว่า ที่ประชุมฯได้แบ่งยุทธศาสตร์ออกเป็น 2 ส่วน คือ (1) การกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมในภาพรวมแล้ววางแผนแต่ละเรื่องให้ชัดเจน และ (2) การหาแนวทางหรือวิธีการดูแลนักลงทุนในด้านต่างๆ ซึ่งสถาบันฯต้องเป็นเหมือนสมองของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สามารถตอบคำถามและให้ความรู้แก่ทุกภาคส่วนได้ รวมทั้งให้บริการด้านการตรวจสอบรับรองมาตรฐาน และเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้านนโยบายจากภาครัฐ

 

โดยสถาบันฯได้กำหนดเป้าหมายของแผนการดำเนินงานฉบับนี้ว่าต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจาก 3% เป็น 8% และสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมยานยนต์จากปัจจุบันอยู่ที่ 30% เป็น 50% ให้ได้ภายในปี 2563 รวมถึงการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตเทคโนโลยี (Technology Base Production)  ในอนาคตอีกด้วย

 

ทั้งนี้ ในแผนดังกล่าวจะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตชิ้นส่วนฯที่มีเทคโนโลยีซับซ้อนแทนการนำเข้า เนื่องจากเล็งเห็นว่าแม้จะยกระดับให้รถยนต์ที่ผลิตจากประเทศไทยใช้ชิ้นส่วนฯที่ผลิตภายในประเทศเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 60-70% ก็ตาม แต่ก็ยังจำเป็นต้องนำเข้าชิ้นส่วนฯที่มีเทคโนโลยีซับซ้อนและมีมูลค่าสูงเข้ามาประกอบ ดังนั้น หากประเทศไทยสามารถให้ผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้ได้เอง ก็จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมาก

 

โดยในขณะนี้มีค่ายรถยนต์หลายค่ายที่เริ่มตั้งฐานด้านวิจัยและพัฒนาในไทยแล้ว ซึ่งช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีมายังบุคลากรไทยและส่งต่อไปยังซัพพลายเออร์ที่ผลิตชิ้นส่วนฯให้มีเทคโนโลยีการผลิตที่สูงขึ้น นับว่าสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งในระยะยาว อีกทั้งการสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์แห่งใหม่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถต่อยอดและพัฒนาเทคโนโลยีได้มากขึ้นในอนาคต

 

สำหรับการนผลักดันให้เป็นไปตามเป้าหมายนั้น ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่

 

1. งานศึกษานโยบาย ควรแก้ไขเพิ่มบทบาทการเป็น Policy support regulator ในส่วนของภาคเอกชนอาจเน้นที่การให้บริการด้านข้อมูลมากกว่างานวิจัย และควรผลักดันให้เกิดแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ฉบับต่อไป ซึ่งจะต้องได้รับการยอมรับจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในฐานะหน่วยงานชี้นำด้านนโยบาย

 

2. การพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วน ควรสำรวจวิเคราะห์ทิศทาง แยกแยะบทบาทในการทำงานของแต่ละหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน และพัฒนาในส่วนที่สถาบันฯเกี่ยวข้องให้ครอบคลุมตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

 

3. การจัดตั้งศูนย์ทดสอบรถยนต์ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยสถาบันฯจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการศึกษาและดำเนินงานจัดตั้งและควรค้นหาความต้องการด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตชิ้นส่วน และเข้าไปช่วยเหลือพัฒนาให้ตรงกับความต้องการ

 

4. การพัฒนาบุคลากรภายในสถาบันฯเพื่อสร้างบุคลากรเข้ามาดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในกลุ่มงานสำคัญ เช่น งานวิจัยเชิงนโยบาย และเชิงวิศวกรรม

 

ขณะที่ยอดขายรถยนต์ในปีนี้คาดว่าจะลดลงเหลือเพียง 2 ล้านคัน จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 2.1 ล้านคัน เนื่องจากตลาดภายในประเทศหดตัวลงค่อนข้างมาก สาเหตุหลักมาจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำและภัยแล้ง ทำให้รายได้เกษตรกรลดลง รวมทั้งยังมีผลมาจากค่ายรถยนต์ขนาดใหญ่เปลี่ยนรุ่นรถกระบะ ทำให้ยอดขายรถกระบะปรับตัวลดลง