HOT

มรสุมอุตฯเหล็ก Q1/2558 ขาดทุนรวมทั้งกลุ่มกว่า 4 พันล้านบาท
POSTED ON 12/06/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นสพ.ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า อุตสาหกรรมเหล็กกำลังเผชิญกับวิกฤตหนัก โดยไตรมาสแรกของปีนี้ อุตสาหกรรมเหล็กไทยโดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีผลประกอบการขาดทุนรวมกันกว่า 4,000 ล้านบาท และธนาคารเจ้าหนี้กำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด

 

แหล่งข่าว ระบุว่า อุตสาหกรรมเหล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานผลิตเหล็กรีดร้อน/รีดเย็นและเหล็กเส้น มีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง โดยได้มีการประเมินถึงสาเหตุสำคัญไว้ 3 ประการ คือ

 

1. ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีการนำเข้าเหล็กจากจีนเพิ่มขึ้น โดยการนำเข้าดังกล่าวมีลักษณะของการทุ่มตลาด ตามมาด้วยการฟ้องบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (Anti-dumping - AD) และมาตรการปกป้อง (Safeguard) แต่ก็ปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศได้ในระดับหนึ่ง หลังจากที่ผู้นำเข้าหาทางหลีกเลี่ยงการเก็บภาษี AD ไปใช้พิกัดที่ใกล้เคียงกัน อาทิ การเจือโบรอนหรือธาตุอื่นๆ

 

ขณะที่โรงงานผู้ผลิตภายในประเทศเองก็ไม่สามารถแข่งขันกับต้นทุนการผลิตจากโรงงาน ผลิตเหล็กนอกประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานในจีน มิหนำซ้ำการใช้มาตรการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กขั้นกลางกลับส่งผลกระทบต่อ เนื่องไปถึงอุตสาหกรรมผลิตเหล็กขั้นปลายที่ใช้วัตถุดิบราคาถูกจากต่างประเทศ

 

2. การไม่สามารถแข่งขันทางด้านราคากับเหล็กจีนที่ทุ่มตลาดเข้ามา รวมไปถึงการบริหารและการผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพของโรงงานเหล็กขั้นกลางที่ประสบผลการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้ธนาคารเจ้าหนี้ต้องเข้ามาดูแลการบริหารงานของโรงงานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยเงินกู้หมุนเวียนเพื่อทำการผลิตเป็นไปอย่างเข้มงวด ส่งผลให้โรงงานผลิตเหล็กต้องลดกำลังการผลิตลงมากกว่าครึ่ง หรือจะผลิตเหล็กก็ต่อเมื่อลูกค้านำเงินมาวางไว้ล่วงหน้าแล้วเท่านั้น

 

3. ไม่มีการก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างของภาครัฐ

 

นอกจากนี้ แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า "การทุ่มตลาดเหล็กราคาถูกจากต่างประเทศ ไม่ใช่สาเหตุหลักของการขาดทุนในอุตสาหกรรมนี้ ประสิทธิภาพในการผลิตของโรงงานกับการขาดโรงงานเหล็กต้นน้ำก็เป็นสิ่งสำคัญทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง บางโรงงานเลือกที่จะไปซื้ออุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำในต่างประเทศจนกลายเป็นการลงทุนที่เกินความสามารถของบริษัท ประกอบกับมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กขั้นปลาย อาทิ ท่อเหล็กสำเร็จรูป ส่งผลให้โรงงานเหล็กขั้นกลางไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ จึงเป็นคำตอบว่าทำไมเหล็กขั้นกลางภายในประเทศต้องลดทั้งกำลังผลิตและราคาจำหน่ายลงอย่างที่เห็นในปัจจุบัน"

 

ด้าน นายสุรชัย ประมวลเจริญกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)เปิดเผยถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจเหล็กในช่วงไตรมาส 2/2558 ว่า แม้จะยังอยู่ในภาวะขาดทุนจากสต็อกเหล็ก แต่น่าจะขาดทุนลดลงจากไตร มาส 1/2558 โดยปัจจุบันยังไม่เห็นแนวโน้มผู้ประกอบการที่จะมีการปิดโรงงานเหล็ก แต่หลายแห่งใช้วิธีการลดกำลังการผลิตจำนวนมาก เพื่อแก้ปัญหาขาดทุนสต็อกและซัพพลายในตลาดที่ลดลง

 

"ทิศทางธุรกิจเหล็กในไทยไม่สดใสตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะได้รับแรงกดดันอย่างมาก ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ กลุ่มธุรกิจเหล็กมีผลขาดทุนค่อนข้างมาก ซึ่งแนวโน้มในช่วงหลังจากนี้เชื่อว่าผลการดำเนินงานของกลุ่มจะยังคงขาดทุนต่อเนื่อง เพราะนอกจากการได้รับผลกระทบจากการขาดทุนสต็อกเหล็กแล้ว ความต้องการเหล็กทั้งในและต่างประเทศก็ชะลอตัวลงด้วย" นายสุรชัย กล่าว

 

ทั้งนี้ นายสุรชัย ยังระบุถึงกรณีของ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรีจำกัด (มหาชน) หรือ SSI ด้วยว่า ผลขาดทุนสุทธิของ SSI ในไตรมาส 1/2558 กว่า 3,000 ล้านบาทนั้น เป็นผลจากภาระหนี้ของบริษัทฯที่มีจำนวนมาก และราคาเหล็กที่ปรับตัวลดลงแรง ทำให้สต็อกสินค้าที่มีอยู่มีผลขาดทุนจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการขอเพิ่มทุนด้วยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) จำนวน 16,000 ล้านหุ้น โดยคาดว่าจะได้รับเงินทุน 3,200 ล้านบาท ไปเพิ่มฐานทุน ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 1,601 ล้านบาท

 

สำหรับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมประเภทเหล็กในไตรมาสแรกปีนี้ จำนวน 25 บริษัท มีผลขาดทุนรวม 4,142.76 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้น 234% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนรวม 1,238.28 ล้านบาท โดยบริษัทที่ขาดทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) SSI ขาดทุนสุทธิ 3,025.78 ล้านบาท (2) บมจ.จี สตีล(GSTEL) ขาดทุนสุทธิ 450.33 ล้านบาท (3) บมจ.จี เจ สตีล (GJS) ขาดทุนสุทธิ 368.71 ล้านบาท (4) บมจ.ทาทาสตีล (ประเทศไทย) (TSTH) ขาดทุนสุทธิ 357.37 ล้านบาท และ (5) บมจ.เพิ่มสินสตีลเวิคส์ (PERM) ขาดทุนสุทธิ 136.56 ล้านบาท

 

อ้างอิง : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1434089862