HOT

ขอตั้งโรงงานน้ำตาลส่อแห้วเพียบ หลังอุตฯให้โควต้าแค่ 10 โรง จาก 60 คำขอ
POSTED ON 12/06/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า ภายหลัง ครม.มีมติให้ปรับหลักเกณฑ์การอนุญาตโรงงานน้ำตาลใหม่ ที่ต้องมีระยะห่างระหว่างโรงงานน้ำตาลไม่ต่ำกว่า 50 กิโลเมตร จากเดิมไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร และจะต้องมีแผนการเตรียมปริมาณอ้อย มีเกษตรกรที่ไม่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่เดิม ล่าสุดขั้นตอนอนุญาตโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่อยู่ระหว่างส่งเรื่องให้ "นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช" รมว.อุตสาหกรรม ลงนาม คาดว่าจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาช่วงกลางเดือน ก.ค. 2558 นี้

 

จากนั้นสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะเริ่มพิจารณาคำขอตั้งโรงงานน้ำตาลทรายภายใน 1-2 เดือน ซึ่งมีโรงงานที่ยื่นคำขอไว้ประมาณ 60 แห่ง แบ่งเป็นผู้ประกอบการเดิมที่ต้องการตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่มในพื้นที่ใหม่ ประมาณ 40 แห่ง ผู้ประกอบการเดิมที่ต้องการขยายโรงงานในพื้นที่เดิมประมาณ 10-20 แห่ง และผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ต้องการตั้งโรงงานน้ำตาล ประมาณ 15 แห่ง

 

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินศักยภาพพื้นที่ทั่วประเทศที่มีการปลูกอ้อยประมาณ 10 ล้านไร่ คาดว่าจะสามารถอนุญาตใบรับรองตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ได้เพียง 10 แห่ง รวมกำลังการผลิตประมาณ 1.8 แสนตันต่อปี กระจายอยู่ในจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก นครราชสีมา ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ยโสธร และศรีสะเกษ มูลค่าการลงทุนแห่งละประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศรวม 52 แห่ง

 

ส่วนโรงงานน้ำตาลที่มีใบอนุญาต ร.ง.4 พร้อมตั้งโรงงานมีจำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย โรงงานน้ำตาลสระบุรี จ.ลพบุรี โรงงานน้ำตาลระยอง 2 จ.ชัยภูมิ และโรงงานน้ำตาลไทยอุตสาหกรรมน้ำตาล จ.เพชรบุรี และมีโรงงานที่ผ่านมติ ครม.แล้วอีก 10 แห่ง

 

นายพิชัย ตั้งชนะชัยอนันต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ผลจากการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตที่ผ่านมา(2557/2558) จากชาวไร่ 3 แสนครัวเรือน มีอ้อยเข้าหีบรวม 105.96 ล้านตัน จำนวนนี้ สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้ 11.3 ล้านตัน หรือ 113 ล้านกระสอบ ค่าความหวาน 12.23 ซีซีเอส โดยปริมาณน้ำตาลทรายที่ผลิตได้ลดลงแม้จำนวนอ้อยที่ผลิตจะเพิ่มขึ้น ทั้งจากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่ลดลงอยู่ที่ 15.1 เซ็นต์ต่อปอนด์ ลดลงจากราคาประเมินซึ่งอยู่ที่ 18 เซ็นต์ต่อปอนด์ ทำให้คาดว่าราคาน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายจะต่ำกว่าราคาขั้นต้น คิดเป็นวงเงินที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ต้องหาเงินเข้าชดเชยไม่ต่ำกว่า 1.2 -1.3 หมื่นล้านบาท