HOT

สภาอุตฯ แนะ ค่าแรงขั้นต่ำควรอิงเศรษฐกิจแต่ละจังหวัด
POSTED ON 10/06/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นสพ.บ้านเมือ รายงานวันนี้ (10 ม.ิ.ย2558) ต่อกรณีที่ "นายสุพันธุ์ มงคลสุธี" ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะถึงกำหนดที่ต้องปรับขึ้นในปีหน้าว่า ค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศไม่ควรจะเท่ากันทุกพื้นที่ ควรกลับไปใช้กลไกไตรภาคีในแต่ละจังหวัด ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนนายจ้าง พิจารณาสภาพเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ เช่น เงินเฟ้อ ซึ่งคณะนี้ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แล้ว

 

อีกทั้งต้องพิจารณาถึงความสามารถในการจ้างงานของนายจ้างด้วย หากรัฐบาลยังคงยืนยันเดินหน้าค่าแรงทั่วประเทศเท่ากันต่อไป ธุรกิจเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ขณะที่ผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงคือกลุ่มแรงงานต่างด้าว ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเหยียดชาติ แต่มองว่าประเทศไทยจ่ายค่าแรงสูงกว่า และยังดูแลสวัสดิการอื่นๆ ให้อีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะนำเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำเข้าสู่ที่ประชุม กกร. ที่จะมีขึ้นต้นเดือนหน้า ทั้งนี้ ภาคเอกชนไม่อยากให้เรื่องการปรับขึ้นค่าแรงเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะว่าผู้ที่จ่ายค่าแรงคือผู้ประกอบการ ไม่ใช่นักการเมือง

 

นายสุพันธุ์ ยังกล่าวถึงโครงการคูปองนวัตกรรมเพื่อยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถของเอสเอ็มอีไทยไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนระยะที่ 2 ว่า โครงการการดังกล่าว เกิดขึ้นจากการผลักดันของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ซึ่งได้มอบหมายให้ทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมาชน) หรือ สนช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินโครงการนี้ด้วยงบประมาณ 500 ล้านบาท คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนใช้นวัตกรรมในการประกอบการถึง 10,000 ล้านบาท ในช่วง 3 ปี โดยผู้ประกอบการจ่ายเงินเพียงประมาณ 25% และภาครัฐจะสนับสนุนเงินให้ 75% แต่ไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อราย ของการดำเนินโครงการ ซึ่งผู้ประกอบที่สนใจสามารถเข้ารับคูปองนวัตกรรม ระยะที่ 2 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้

 

สำหรับโครงการคูปองนวัตกรรมระยะที่ 2 มีเพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนเปลี่ยนแปลงระบบอุตสาหกรรมของไทยให้ใช้นวัตกรรมมากขึ้น และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยสร้างศักยภาพให้เอสเอ็มอีพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจ

 

ด้าน นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเปิดการสัมมนาการจัดการกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ โดยระบุว่า จ.สมุทรปราการ มีโรงงานมากถึง 7,355 โรงงาน ปริมาณมากถึงปีละประมาณ 1.6 ล้านตัน แบ่งเป็นกากของเสียที่ไม่อันตราย 1.25 ล้านตัน และกากของเสียที่อันตราย 350,000 ตัน ซึ่งนำกากของเสียเข้าสู่ระบบการจัดการได้แล้วประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี คิดเป็น75% ของปริมาณกากทั้งหมด แต่ยังมีกากอุตสาหกรรมอันตรายอีกประมาณ 25% หรือประมาณ 60,000 ตันต่อปี ยังไม่เข้าสู่ระบบการจัดการที่ถูกต้อง ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจะเพิ่มความเข้มงวดให้ผู้ประกอบการต้องนำกากอุตสาหกรรมอันตรายเหล่านี้เข้าสู่ระบบการจัดการที่ถูกต้อง เพื่อลดปัญหาการทิ้งกากอุตสาหกรรมปะปนกับขยะชุมชน หรือแอบไปทิ้งฝังกลบรวมในบ่อขยะของเทศบาล

 

อ้างอิง : http://www.banmuang.co.th/news/economy/18505