HOT

รัฐกางแผนพัฒนาแร่ 5 ชนิด กระตุ้นการลงทุน
POSTED ON 13/07/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นสพ.ฐานเศรษฐกิจ รายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2558 ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ที่มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบในหลักการแผนการพัฒนาแร่เศรษฐกิจที่สำคัญ 5 ชนิด ได้แก่ ทองคำ, โปแตช, ควอตซ์, เหล็ก และถ่านหิน โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปเร่งจัดทำแผนแร่แต่ละชนิดอย่างละเอียด ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ แล้วนำมาเสนอ กอช.อีกครั้ง ก่อนจะส่งให้ ครม.พิจารณาเพื่ออนุมัติต่อไป

 

นายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยต่อกรณีดังกล่าวว่า ในเบื้องต้นทาง กพร.จะเร่งจัดทำแผนพัฒนาแร่ที่มีความเป็นไปได้ก่อน ซึ่งได้แก่ โปแตช และ ควอตซ์ เพื่อเสนอไปยัง กอช.ภายใน  1-2 เดือนนี้  โดยในส่วนแร่โปแตชนั้นจะประสานไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอเปิดพื้นที่ตามมาตรา 6 ทวิแห่ง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ซึ่งหากแก้ไขในส่วนนี้ได้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าทำการสำรวจแร่เพิ่มเติมได้

 

นอกจากนี้ จะเร่งพิจารณาคำขออนุญาตประทานบัตรที่ค้างอยู่อีก 2 ราย ได้แก่ บริษัท ไทยคาลิฯ จังหวัดนคร ราชสีมา และ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด จังหวัดอุดรธานี หลังจากที่มอบให้กับบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ไปเมื่อเดือน ก.พ.2558 ที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของ บมจ.เหมืองแร่โปแตชอาเซียนนั้นคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2561 มีกำลังการผลิตประมาณ 1.1 ล้านตันต่อปี ค่าภาคหลวงที่รัฐจะได้ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี หากรวมกำลังการผลิตของอีก 2 ราย จะทำให้มีกำลังการผลิตรวมมากกว่า 3.3 ล้านตันต่อปี จากปริมาณสำรองที่มีอยู่ทั้งประเทศประมาณ 4 แสนล้านตัน

 

ขณะเดียวกันจะเร่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากแร่โปแตช ในอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี เพื่อเพิ่มมูลค่าแร่โปแตชภายในประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับบริษัท โรงปัง ไมนิ่ง จำกัด จากจีน ซึ่งมีความประสงค์จะตั้งโรงงานผลิตปุ๋ย กำลังผลิตกว่า 1 ล้านตันต่อปี

 

สำหรับแผนพัฒนาแร่ควอตซ์จะประสานขอความเห็นชอบจากกระทรวงกลาโหมในการสำรวจและทำเหมืองแร่ควอตซ์ในแหล่งตะโกปิดทอง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งแร่ควอตซ์คุณภาพสูงที่มีศักยภาพที่สุดของประเทศ และจะประสานงานกับกรมทรัพยากรธรณี เพื่อเร่งสำรวจแร่ควอตซ์ในพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากพบว่ามีปริมาณสำรองแร่คุณภาพสูงประมาณ 25 ล้านตัน หากสามารถนำแร่ทั้งหมดไปผลิตเป็นโซลาร์เกรดซิลิกอนจะมีมูลค่าสูงถึง 3.7-4.5 ล้านล้านบาท

 

โดยในปี 2559 จะเร่งรัดการอนุญาตประทานบัตรเพื่อรองรับการผลิตโซลาร์เกรดซิลิกอนในปี 2561 ซึ่งหากมีการเปิดให้สำรวจแร่ในพื้นที่ทหารได้ จะช่วยให้เกิดการตั้งโรงงานเพิ่มมากขึ้น จะช่วยลดการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ได้ทั้งหมด

 

ส่วนแร่ทองคำนั้น ที่ผ่านมา ครม.ให้ชะลอการออกอาชญาบัตรสำรวจแร่เอาไว้ก่อน ซึ่งทาง กพร.กำลังยกร่างนโยบายการสำรวจ และทำเหมืองแร่ทองคำขึ้นมาใหม่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ค.2558 และหลังจากนั้นจะนำเสนอนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำให้ ครม.พิจารณาภายในปีนี้ เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการพิจารณาอนุญาตการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ หลังจากนั้นในปีหน้าจะเร่งพิจารณาคำขออาชญาบัตรพิเศษที่ค้างอยู่ 177 แปลง และประทานบัตรที่ค้างอยู่ 107 แปลง

 

พร้อมทั้งเปิดประมูลสิทธิการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองทำในพื้นที่ที่รัฐเป็นผู้ลงทุนสำรวจ และผลักดันให้มีการตั้งโรงงานรีไฟน์ทองคำที่ได้จากการทำเหมืองแร่ภายในประเทศ เนื่องจากนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทอง คำดังกล่าว กำหนดให้มีโรงงานรีไฟน์เพื่อเพิ่มมูลค่าทองคำในประเทศ โดยภายหลังจากนโยบายมีผลบังคับใช้ 1 ปี จะห้ามไม่ให้มีการส่งออกโลหะผสมทองคำอีกต่อไป

        

ขณะที่ในส่วนของแร่เหล็ก พบว่า ปริมาณสำรองที่พบมีประมาณ 124 ล้านตัน ซึ่งแผนพัฒนาคงต้องขอใช้พื้นที่ทหารเพื่อเข้าทำการสำรวจ โดยเฉพาะแหล่งแร่เหล็กที่เขาทับควาย จ.ลพบุรี ซึ่งมีปริมาณสำรองประมาณ 60 ล้านตัน และมีเปอร์เซ็นต์เหล็กค่อนข้างสูง พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาแหล่งแร่เหล็กและกำหนดพื้นที่จัดตั้งโครงการผลิตเหล็กครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำให้ได้ภายในปี 2560 และจะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

 

ส่วนแผนพัฒนาถ่านหิน นายสุรพงษ์กล่าวว่า ประเทศไทยมีปริมาณสำรองประมาณ 787 ล้านตัน กระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งดำเนินการประสานกับกระทรวงทรัพยากรฯให้ยกเลิกพื้นที่แหล่งถ่านหินตามมาตรา 6 ทวิ เพื่อให้เอกชนสามารถขอสำรวจได้

 

อ้างอิง : http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=284979:5&catid=88:2009-02-08-11-23-46&Itemid=418#.VaNdavm19to