HOT

ก๊าซธรรมชาติในประเทศเหลือใช้แค่ 6 ปีครึ่ง เร่งรัฐบาลเปิดสัมปทานรอบ 21
POSTED ON 26/05/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นายคุรุจิต นาครทรรพ รักษาการปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยเหลือใช้อีกเพียงแค่ 6 ปีครึ่งเท่านั้น โดยลดลงจากเดิมที่เคยประมาณการณ์ไว้ว่าจะเหลือใช้ 7 ปี และเป็นการลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเมื่อ 33 ปีก่อนที่ยังมีปริมาณสำรองเหลือใช้ถึง 12 ปี

 

ทั้งนี้ หากแยกเป็นเฉพาะแหล่งที่คาดว่าจะมีก๊าซฯแน่นอน (P1) นั้นจะเหลือใช้อีก 6 ปีครึ่งเท่านั้น และถ้ารวมกับแหล่งที่น่าจะมีก๊าซฯ (P2) จะเหลือใช้รวม 13 ปี ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงของประเทศอย่างมาก ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงจำเป็นต้องเร่งเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 แม้ทราบว่าจะไม่สามารถพบแหล่งก๊าซฯได้ง่าย แต่จำเป็นต้องเปิดสำรวจเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองในประเทศให้มากขึ้น รองรับต่อความมั่นคงก๊าซในอนาคต

 

รวมไปถึงการลงทุนในแหล่งก๊าซใหญ่ 2 แหล่งในอ่าวไทย ซึ่งได้แก่ เอราวัณ ของ บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด และแหล่งบงกช ของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) นั้น ที่ผ่านมาทั้ง 2 แหล่งเคยได้รับการต่ออายุ 10 ปีแล้วตามกฎหมาย จึงไม่สามารถต่ออายุได้อีก ดังนั้น เมื่อ 2 แหล่งหมดอายุสัมปทานลงในปี 2565-2566 ก็จะตกเป็นทรัพย์สินของรัฐ ทั้งนี้ หากไม่เร่งดำเนินการจะทำให้กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยหายไป 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็นกำลังผลิต 76%

 

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติให้รักษาความต่อเนื่องในการพัฒนาเพื่อรักษาระดับการผลิต ซึ่งต้องยอมรับว่าหากผู้ลงทุนเป็นผู้รับสัมปทานเดิมน่าจะรักษาอัตราการผลิตและนำทรัพยากรมาใช้ได้มากที่สุด เนื่องจากมีผู้เชี่ยวชาญในแหล่งปิโตรเลียมอยู่แล้ว

 

ดังนั้น จึงต้องเร่งบริหารจัดการทั้ง 2 เรื่องนี้เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานความเชื่อมั่นของทุกภาคส่วน ซึ่งในแหล่งสัมปทานหมดอายุนั้นกำหนดต้องแก้ไขกฎหมายให้รัฐเข้าไปถือหุ้นมากขึ้น อาจจะเป็นกระทรวงการคลังหรือบริษัทที่รัฐถือหุ้นก็ต้องพิจารณาให้เสร็จใน 1 ปี ซึ่งต้องแก้ไขกฎหมายด้วย รวมถึงการแก้ไขสัญญาเรื่องราคาก๊าซ และหากจะแก้ไขโดยมุ่งหวังรัฐได้ประโยชน์สูงสุด อาจจะกระทบต่อผู้บริโภคราคาก๊าซขยับขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ที่มาเลเซีย เมื่อเอสโซ่และเชลล์หมดสัญญา ก็ให้บริษัทในเครือปิโตรนาสถือหุ้น 50%

 

ขณะที่ในส่วนของการการปรับแก้กฎหมายพระราชบัญญัติปิโตรเลียมและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เพื่อออกประกาศเชิญชวนผู้สนใจร่วมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 นั้น ขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนส่งกลับมายังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งอาจส่งผลให้การออก ประกาศเชิญชวนเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ที่เดิมทีคาดว่าดำเนินการได้ภายในเดือน มิ.ย.2558 นี้ ต้องเลื่อนออกไปจนกว่าขั้นตอนการปรับปรุงกฎหมายจะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ ในเบื้องต้นกฎหมายที่ปรับปรุงใหม่จะเปิดกว้างทั้งรูปแบบประมูลและแบ่งปันผลผลิต (PSC) เข้าไปเป็นทางเลือก