HOT

สัมปทานรอบ 21 เป็นเหตุ ทำอุตฯปิโตรฯปลดคนงานเพียบ
POSTED ON 25/05/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นสพ.ไทยโพสต์ รายงานข่าวต่อกรณีที่ "นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์" อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทประกอบแท่นผลิตปิโตรเลียมหลายบริษัทได้สั่งปลดแรงงานจำนวนมากแล้ว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ลดต่ำ ทำให้ภาคเอกชนไม่ต้องการผลิตปิโตรเลียมในช่วงนี้ เนื่องจากไม่คุ้มค่าการลงทุน ประกอบกับปัญหาการเปิดสำรวจแหล่งผลิตปิโตรเลียมใหม่ของไทยยังไม่สามารถเปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการได้ ส่งผลให้บริษัทเอกชนเสียโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังบริษัทที่ดำเนินการสำรวจปิโตรเลียมแบบคลื่นวัดการสั่นสะเทือน ซึ่งปัจจุบันแทบจะไม่มีงานเข้ามา ซึ่งคนงานส่วนใหญ่ในธุรกิจผลิตปิโตรเลียมจะเป็นคนไทย เพราะนโยบายกรรมการปิโตรเลียมต้องการให้เกิดการจ้างงานคนไทยก่อนเป็นอันดับแรก ดังนั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอันดับแรกจึงเป็นแรงงานไทยที่ทำงานด้านปิโตรเลียมดังกล่าว

 

"การชะลอเปิดสำรวจปิโตรเลียมของรัฐบาลครั้งนี้เป็นจังหวะเดียวกับที่ราคาน้ำมันโลกลดต่ำ ส่งผลให้การลงทุนสำรวจปิโตรเลียมเกิดการหยุดชะงัก และเริ่มเกิดการปลดแรงงานไทยออกมาระยะหนึ่งแล้ว และมีการปลดคนงานออกอย่างต่อเนื่องเพื่อลดต้นทุน ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการประเมินว่าปลดแรงงานไประดับใดแล้ว" นางพวงทิพย์ กล่าว

 

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อการเก็บค่าภาคหลวงจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศลดลง คาดในปี 2558 นี้จะเก็บค่าภาคได้ต่ำกว่า 1.8 แสนล้านบาท หรือต่ำกว่าปี 2557 ที่จัดเก็บได้ 1.8-1.9 แสนล้านบาท และในปี 2556 สามารถเก็บค่าภาคหลวงได้ถึง 2 แสนล้านบาท

 

สำหรับในปี 2558 นี้ ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ขยับจาก 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาเป็น 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะทรงตัวระดับนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2558 และยังไม่เห็นท่าทีว่าน้ำมันจะกลับมาถึง 90-100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ได้ในระยะอันใกล้ด้วย

 

นางพวงทิพย์ ยังกล่าวด้วยว่า "การชะลอเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่นี้ ทำให้เสียโอกาสในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ สำรวจและผลิตปิโตรเลียมแล้ว และยังเกิดผลกระทบต่อการจ้างงานในประเทศ และยังเพิ่มความเสี่ยงด้านพลังงานอีกด้วย เพราะถ้าเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ในวันนี้จะนำมาใช้ได้จริงในอีก 6-7 ปีข้างหน้า ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงที่ปริมาณก๊าซในไทยที่จะหมดลงได้ใน 6-7 ปีข้างหน้า หากไม่สำรวจและผลิตก๊าซก็จะเกิดปัญหาขาดแคลนก๊าซ และต้องนำก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จากต่างประเทศมาใช้แทน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าให้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน"

 

ทั้งนี้ ไทยสร้างคลังเก็บแอลเอ็นจีเพื่อจะนำเข้า 10 ล้านตัน ซึ่งตามแผนการใช้พลังงานพบว่าในอีก 21 ปีข้างหน้า (หรือในปี 2579) จะเกิดการใช้ก๊าซถึง 6,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันใช้อยู่ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งไทยผลิตได้เองเพียง 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ที่เหลือนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากเมียนมาร์

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การใช้ก๊าซเกิดประสิทธิภาพและเพียงพอในอนาคต กระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนก๊าซขึ้นทั้งระบบ และเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กลางเดือน มิ.ย.2558 นี้

 

อ้างอิง : http://www.thaipost.net/?q=กลุ่มปิโตรเลียมสั่งโละคนงาน-อ้างชะลอเปิดสัมปทานรายได้หด