HOT

โรงงานน้ำตาลเกิดใหม่ยาก โดยเฉพาะภาคกลาง-เหนือ
POSTED ON 02/06/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นสพ.ฐานเศรษฐกิจ รายงานข่าวเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2558 ที่ผ่านมาว่า "นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช" รมว.อุตสาหกรรม ได้เปิดเผยถึงร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่ว่าด้วยเรื่องการอนุญาตให้ตั้งหรือย้ายหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียดของคณะอนุกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 6 สำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากผ่านความเห็นชอบของครม.มาแล้ว ที่กำหนดให้โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่ขออนุญาตตั้งหรือย้ายโรงงานน้ำตาลจะมีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 50 กิโลเมตร จากเดิมที่กำหนดต้องมีระยะห่าง 80 กิโลเมตรขึ้นไป

 

"โรงงานแห่งใหม่ต้องมีแผนเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาเข้าสู่โรงงานในปีแรกไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตของฤดูกาลผลิตนั้นๆ และกำหนดจำนวนวันหีบอ้อยของโรงงานทั่วประเทศเฉลี่ย 120 วันต่อปี และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่พื้นที่เดิม และต้องมีปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาอ้อยฯเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3 ปี และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญาของโรงงานน้ำตาลอื่น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งอ้อยวัตถุดิบ ซึ่งร่างดังกล่าวคาดว่าการพิจารณาจะแล้วเสร็จในช่วงต้นเดือน มิ.ย.2558 นี้ และหลังจากนั้นจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับได้ในเดือนเดียวกัน" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

 

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ยื่นขอตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่มาประมาณ 50 คำขอ กำลังหีบอ้อยเฉลี่ยโรงละประมาณ 20,000 ตัน ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ไปพิจารณาในรายละเอียดของแต่ละคำขอตั้งโรงงานแล้ว เพื่อทำงานคู่ขนานระหว่างรอการพิจารณาร่างประกาศกระทรวงฯ ซึ่งหากกฎหมายมีผลบังคับใช้ คาดว่าจะทยอยพิจารณาปล่อยใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ได้ จากที่ผ่านมาไม่มีการอนุญาตให้มีการตั้งโรงงานน้ำตาลทรายเพิ่มจากที่มีอยู่ประมาณ 50 แห่งทั่วประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม มองว่าการขออนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่คาดว่าจะมีไม่มาก เพราะหากประเมินปริมาณปลูกอ้อยที่มีอยู่ในปัจจุบันพื้นที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัด เพราะแค่การขอตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ที่ผ่านความความเห็นชอบจาก ครม.ไปแล้วประมาณ 11 แห่ง กำลังผลิตเฉลี่ยโรงละประมาณ 20,000 ตันอ้อย ถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถก่อสร้างได้ เพราะยังติดปัญหาในหลายเรื่อง

 

นายพิชัย ตั้งชนะชัยอนันต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าที่ผ่านมามีผู้ประกอบการรายเดิมที่ยื่นขอตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่มาตั้งแต่ปี 2551 แต่ยังไม่มีการพิจารณาอนุญาต เพราะติดมติ ครม.ห้ามให้มีการตั้งโรงงานน้ำตาล ซึ่งมีจำนวนประมาณ 27 คำขอที่ค้างอยู่ ขนาดกำลังผลิต 15,000-20,000 ตันอ้อย และอีกประมาณ 15 คำขอ ที่เป็นผู้ประกอบการรายใหม่ เช่น กลุ่มเกษตรกรที่มีการรวมตัวกันขอตั้งโรงงาน ขณะที่การขยายกำลังการผลิตจากโรงงานเดิมขนาดตั้งแต่ 3,000-20,000 ตันอ้อย มีอยู่ประมาณ 20 คำขอ และยังไม่รวมโรงงานน้ำตาลอีก 11 แห่งเดิม ที่ผ่าน ครม.อนุมัติไปแล้ว

 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากพื้นที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลที่ผ่าน ครม.ทั้ง 11 โรงแล้ว อาทิ โรงงานน้ำตาลราชบุรี โรงงานน้ำตาลสระบุรี โรงงานน้ำตาลไทยอุตสาหกรรมน้ำตาล โรงงานน้ำตาลระยอง 2 โรงงานน้ำตาลอุตสาหกรรมน้ำตาลโคราช โรงงานน้ำตาลและอ้อยตะวันออก โรงงานน้ำตาลพิษณุโลก โรงงานน้ำตาลทิพย์นครสวรรค์ โรงงานน้ำตาลไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม และโรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรี ล้วนอยู่ในพื้นที่ปลูกอ้อย ดังนั้น การจะอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่รอการพิจารณาอีก 50 รายนั้น คาดว่าจะพิจารณาอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่มได้อีกราว 10 โรงงานเท่านั้น เพราะด้วยข้อจำกัดของพื้นที่การปลูกอ้อย และการกำหนดระยะห่าง 50 กิโลเมตรที่ขีดเอาไว้ ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่ภาคกลาง เช่น กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี และภาคเหนือ เช่น สุโขทัย เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ เป็นพื้นที่ตั้งโรงงานน้ำตาลเต็มหมดแล้ว