HOT

เจ้าหนี้ไม่เชื่อ "สหฟาร์ม" จ่ายหนี้ได้ตามแผน
POSTED ON 09/04/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - ประชาชาติธุรกิจ รายงานถึงแหล่งข่าวจากเจ้าหนี้สหฟาร์มที่เปิดเผยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ทางเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี ได้ทยอยจัดส่งแผนฟื้นฟู ฉบับลงวันที่ 12 มี.ค.2558 ให้กับเจ้าหนี้ทุกราย และจะมีการนัดประชุมเจ้าหนี้ทั้งหมดในวันที่ 25 พ.ค.2558 เพื่อออกเสียงให้การรับรองแผนฟื้นฟูหรือขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ

 

โดยทาง EY ได้สรุปรายงานสถานะทางการเงินของสหฟาร์ม ณ วันที่ 23 ก.ค.2557 ว่า มีทรัพย์สินรวม 6,300 ล้านบาท ขณะที่มีหนี้สินรวมกว่า 14,000 ล้านบาท และมีเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ทั้งหมด 4,460 ราย รวมมูลหนี้ทั้งหมด 278,349 ล้านบาท ซึ่งมูลหนี้ 265,376 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นภาระหนี้ค้ำประกัน ส่วนภาระหนี้ที่ไม่มีหลักประกันมีอยู่ประมาณ 13,000 ล้านบาท ซึ่งแผนฟื้นฟูกิจการจะใช้เวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2567 มีการประมาณการงบกำไรขาดทุนรวม 10 ปี จะสามารถบริหารให้มีกำไรสุทธิรวมประมาณ 15,000 ล้านบาท และมีการจัดงบกระแสเงินสดสำหรับชำระหนี้ไว้ 13,000 ล้านบาท

 

โดย EY จะขอวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงิน 3,000 ล้านบาทมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนในช่วงแรก และเสนอทิศทางดำเนินธุรกิจไว้คือ (1) จำหน่ายไก่สด ไก่สดแช่แข็ง ไก่ปรุงสุก ทั้งในและนอกประเทศในตลาดหลัก เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น รวมทั้งเปิดตลาดใหม่ เช่น จีน รัสเซีย มาเลเซีย (2) สร้างแบรนด์สหฟาร์มให้เป็นที่รู้จัก (3) เปิดไลน์ผลิตอาหารพร้อมรับประทาน (Ready Meal) (4) บริหารจัดการสินค้าจากผลพลอยได้ (By Products) โดยมองว่าภาพรวมธุรกิจสินค้าไก่ทั้งประเทศยังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสหฟาร์มเคยมีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศ 30% และการส่งออก 22% จึงน่าจะมีทางดำเนินธุรกิจต่อไปได้

 

นายบรรเจิด แก้วกำเนิด ผู้ประสานงานกลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบการเลี้ยงไก่ในระบบพันธสัญญา (คปกพ.) เปิดเผยว่า เกษตรกรกว่าครึ่งหนึ่งไม่พอใจกับแผนฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากการชำระหนี้แบ่งเป็นค่าเลี้ยงไก่กับค่าประกันการเลี้ยงไก่ ซึ่งค่าประกันการเลี้ยงไก่จะจ่ายเต็ม 100% ให้เมื่อสิ้นไตรมาส 1/2560 ซึ่งเกษตรกรมองว่าใช้ระยะเวลานานเกินไป และเงินค่าประกันมีจำนวนสูงกว่าค่าเลี้ยงไก่ หากเป็นเกษตรกรที่ยังเลี้ยงไก่กับสหฟาร์มก็ไม่มีปัญหา แต่เกษตรกรที่เลิกเลี้ยงหรือเลี้ยงไก่ให้กับบริษัทอื่นแล้วมองว่า ควรรวมหนี้ค่าประกันเข้ากับค่าเลี้ยงไก่ด้วย

 

ในแผนการชำระหนี้ได้จัดแบ่งเจ้าหนี้ออกเป็น 13 กลุ่ม ได้แก่ (1) เจ้าหนี้มีหลักประกัน มี 4 ราย รวมมูลหนี้ 1,465,028,784.27 บาท (2) เจ้าหนี้สถาบันการเงินที่มีทรัพย์สินของบุคคลอื่นเป็นหลักประกัน มี 3 ราย (3) เจ้าหนี้เงินกู้ยืม (4) เจ้าหนี้เช่าซื้อ (5) เจ้าหนี้หน่วยราชการ (6) เจ้าหนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ (7) เจ้าหนี้แรงงาน (8) เจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท (9) เจ้าหนี้ค่าเสียหายและค่าเสียโอกาส (10) เจ้าหนี้ค้ำประกัน (11) เจ้าหนี้ผู้ออกหนังสือค้ำประกัน (12) เจ้าหนี้ภาระค้ำประกัน และ (13) เจ้าหนี้อื่นๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีลำดับการได้รับชำระหนี้ไม่พร้อมกัน

 

ทั้งนี้ ทางประชาชาติธุรกิจยังรายงานด้วยว่า เจ้าหนี้หลายรายให้คำตอบในทิศทางเดียวกันว่าแผนการชำระหนี้ของสหฟาร์มมีความเป็นไปได้น้อยที่จะสามารถชำระหนี้ได้ตามแผน เนื่องจากขณะนี้ภาพรวมการเลี้ยงไก่ทั้งระบบอยู่ในภาวะล้นตลาด เหตุเพราะการส่งออกลดลง โดยเฉพาะช่วง 3 เดือน ตั้งแต่ ก.พ.-เม.ย.2558 โดยปริมาณลดลงประมาณ 20% มูลค่าหายไปประมาณ 30-40% เนื่องจากปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน

 

อ้างอิง : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1428481310