HOT

ส.ลวดเหล็กฯ ชี้ เก็บเซอร์ชาร์จเหล็กจีน กระทบ SME กว่า 500 ราย
POSTED ON 08/04/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ รายงานข่าวว่า นายสุนทร กระตุฤกษ์ อุปนายกสมาคมลวดเหล็กแรงดึงสูง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไวร์ อินดัสทรี จำกัด ผู้ผลิตลวดเหล็กแรงดึงสูงชนิดตีเกลียว ในฐานะกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบหากรัฐบาลกำหนดเซอร์ชาร์จ ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการออกมาตรการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษสินค้าเหล็กลวดคาร์บอนสูงจากจีนไปยังบีโอไอ หลังจากที่ บริษัท เอ็น.ที.เอส.สตีล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทที่ยื่นขอให้บีโอไอเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษสินค้าเหล็กลวดคาร์บอนสูง ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าของบริษัท สยามไวร์ อินดัสทรี จำกัด และเป็นบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอสำหรับผลิตสินค้าลวดเหล็กแรงดึงสูงชนิดตีเกลียวที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างโรงงานผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรง เสาเข็ม เสาไฟฟ้า คานสะพาน แผ่นพื้นสำเร็จรูป ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ทางด่วนพิเศษ สะพานและรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง เป็นต้น

 

นายสุนทร กล่าวว่า ถ้าบีโอไอเก็บเซอร์ชาร์จก็จะเกิดความเดือดร้อนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งห่วงโซ่อุปทาน ที่ล้วนแต่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนมากกว่า 500 รายทั่วประเทศ ในขณะที่ในรอบปีที่ผ่านมาบริษัท สยาม ไวร์ อินดัสทรี จำกัด ก็ให้การสนับสนุนซื้อเหล็กลวดคาร์บอนสูงจากบริษัท เอ็น.ที.เอส.สตีล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แต่ก็ยังประสบปัญหาผลผลิตต่ำเมื่อใช้สินค้าในประเทศ คุณภาพไม่สม่ำเสมอ เมื่อเทียบกับการนำเข้ามาจากจีน

 

"ทั้งนี้ บริษัทฯจำเป็นต้องเลือกใช้สินค้าที่มีคุณภาพ เพราะลวดเหล็กแรงดึงสูงชนิดตีเกลียวเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้น การเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพจึงมีความสำคัญ และหากพิจารณาในฐานะที่บริษัทฯเป็นผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุน หากมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษสินค้าเหล็กลวดคาร์บอนสูงจากจีน บริษัทฯก็จะได้รับผลกระทบโดยตรง การส่งเสริมการลงทุนก็จะไม่เกิดประโยชน์กับบริษัทฯ กระทบแผนลงทุนและการจ้างงานในอนาคต" นายสุนทร กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯมีความยินดีที่จะสนับสนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศ หากสินค้ามีคุณภาพสม่ำเสมอ ราคาเป็นธรรม แต่ปัจจุบันการผลิตเหล็กลวดคาร์บอนสูงมีผู้ผลิตรายเดียวคือกลุ่มทาทาสตีล ที่ผลิตในนามบริษัท เอ็น.ที.เอส.สตีล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท เหล็กสยาม (2001) จำกัด หากภาครัฐจะออกมาตรการคุ้มครองใดๆ ขอให้มองถึงผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และควรช่วยเหลือทั้งห่วงโซ่อุปทาน

 

ด้าน นายวีรศักดิ์ ชัยสุพัฒน์ นายกสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น กล่าวว่า เป็น 1 ใน 8 สมาคมเหล็กที่ยื่นหนังสือไปยังบีโอไอในนามสมาคมท่อเหล็กฯ เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2558 ที่ผ่านมา เนื่องจากในส่วนของกลุ่มท่อเหล็กฯยังไม่ได้รับการคุ้มครองด้วยมาตรการใดๆ จากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเอดี หรือ เซฟการ์ด เหมือนกลุ่มเหล็กแผ่นรีดร้อน ล่าสุดจึงอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลขอให้กระทรวงพาณิชย์คุ้มครองโดยใช้มาตรการดังกล่าวด้วย โดยจะยื่นเรื่องเข้าไปยังกระทรวงพาณิชย์หลังเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งขณะนี้ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าท่อเหล็กสำเร็จรูปหนักขึ้น เนื่องจากนำเข้ามาขายในราคาถูกกว่าผลิตภายในประเทศมากกว่า 20% แล้วในขณะนี้

 

ขณะที่ทางด้าน นายนฤนารถ อัตตสัมพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท คอทโก้ กรุ๊ปส์ กล่าวว่า การขอรับการสนับสนุนจากบีโอไอในการกำหนดเซอร์ชาร์จจะเป็นสินค้าที่ผู้ผลิตในประเทศมีการผลิตได้จริงเท่านั้น เพื่อป้องกันสินค้านำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากจีนและเวียดนามที่มีสถิตินำเข้าสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนใหญ่อยู่ในพิกัด 7306 และบางส่วนอยู่ในพิกัด 7305 สำหรับท่อเหล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 16 นิ้ว โดยการนำเข้าท่อตามพิกัดที่ขอเซอร์ชาร์จจะยกเว้นสำหรับการนำเข้าเพื่อส่งออกและการใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและยานยนต์