HOT

อุตฯเข้มตรวจโรงงานเสี่ยง หลังพบไฟไหม้ถี่ขึ้น
POSTED ON 01/04/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงกรณีที่เกิดเหตุไฟไหม้โรงงานบ่อยครั้ง ซึ่งสร้างทั้งความเสียหายทางเศรษฐกิจและเป็นเหตุให้คนงานได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการป้องกัน

 

ทั้งนี้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้รวบรวมสถิติข้อมูลการเกิดอัคคีภัยในโรงงานย้อนหลัง 4 ปี เพื่อวางมาตรการการเฝ้าระวังป้องกัน ก่อนเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป โดยในเบื้องต้นได้ตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดอัคคีภัยในสถานประกอบกิจการโรงงาน เพื่อดูแลติดตามสถานการณ์และกำหนดแนวทางช่วยเหลือ รวมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยจะเป็นศูนย์กลางประสานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

 

ทั้งนี้ เมื่อย้อนดูข้อมูลการเกิดไฟไหม้ในช่วงโรงงาน 4 ปีล่าสุด (ปีงบประมาณ 2555-2558) ปี 2556-2557 มีเหตุอัคคีภัยเกิดขึ้น 71 เรื่อง หรือเฉลี่ย 6 เรื่องต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปี 2555 คิดเป็น 44% และเกิดเหตุอัคคีภัย 50 เรื่อง หรือเฉลี่ย 4 เรื่องต่อเดือน สำหรับปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.2557 - ก.พ.2558) เกิดเหตุอัคคีภัย 43 เรื่อง หรือเฉลี่ย 9 เรื่องต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 คิดเป็น 59% เหตุหลักจากอัคคีภัย 27 เรื่อง หรือเฉลี่ย 5 เรื่องต่อเดือน

 

สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรมากสุด 60 เรื่อง คิดเป็น 52% รองลงมาคือ เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ชำรุด 36 เรื่อง คิดเป็น 31% อื่นๆ เช่น ปฏิกิริยาเคมี ความร้อน การหมักตัวจนเกิดเป็นก๊าซ ฟ้าผ่า การเผาหญ้าใกล้บริเวณโรงงาน และการวางเพลิง รวม 15 เรื่อง และความประมาทของบุคคล 4 เรื่อง

 

ส่วนสถานประกอบการที่เกิดเพลิงไหม้มากที่สุด ส่วนใหญ่จะเป็นอาคารที่มีอายุ 11 ปีขึ้นไป จำนวน 133 โรงงาน คิดเป็น 57% รองลงมาคือ อาคารอายุ 6-10 ปี 67 โรงงาน คิดเป็น 29% อาคารอายุ 1-5 ปี 35 โรงงาน คิดเป็น 14% นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าเดือน ธ.ค.-ม.ค.และ เม.ย.-พ.ค. ของทุกปี จะเกิดเหตุอัคคีภัยสูงกว่าช่วงอื่น เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ประกอบกับสภาพอากาศแห้งของฤดูร้อน จึงทำให้ง่ายต่อการเกิดเหตุอัคคีภัย และการเร่งการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายให้ทันในช่วงเทศกาลอีกด้วย

 

สำหรับสถานประกอบการที่เกิดอัคคีภัยสูงสุดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือ โรงงานคัดแยก-ฝังกลบสิ่งปฏิกูล และโรงงานรีไซเคิล โดยส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานที่อยู่ในประเภทมีความเสี่ยงสูงและปานกลาง ตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ.2552

 

"หลังจากนี้ กระทรวงฯจะบังคับใช้กฎหมายในมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทุก 5 ปี ส่วนโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูงและอายุมากกว่า 10 ปี จะให้ส่งรายงานผลการตรวจประเมินทุก 2 ปี" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว