HOT

ผู้ผลิตเสื้อผ้า ร้องรัฐ ช่วยเข้าถึงแหล่งเงินทุน-หาตลาดใหม่
POSTED ON 31/03/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - หนังสือพิมพ์แนวหน้า รายงานข่าวว่า ในสัปดาห์หน้าทางผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และตัวแทนสมาคมต่างๆ จะประชุมร่วมกับ "ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล" รองนายกรัฐมนตรี โดยทางเอกชนจะเสนอ 3 เรื่องให้รัฐพิจารณาเร่งดำเนินการ ได้แก่ (1) ให้รัฐออกมาตรฐานการเงินและการคลัง เพื่อชดเชยผลกระทบจากค่าบาทแข็งกว่าสกุลเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย จีน และเวียดนาม ซึ่งมีสินค้าส่งออกคล้ายกัน แต่เงินเขาอ่อนค่ากว่า 15-20% มีผลต่อราคาสินค้าไทยแพงกว่า (2) ให้เร่งมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และปล่อยกู้ให้เร็วที่สุด และ (3) เร่งหาตลาดใหม่ เพื่อชดเชยตลาดเดิม

 

ด้าน นายถาวร กนกวลีวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า "ผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลเรื่องของค่าเงินที่ค่าบาทของไทยยังอ่อนค่าน้อยกว่าภูมิภาคเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการเข้ามาดูแลเรื่องของเงินกู้ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีปัญหาดังกล่าวอย่างมาก ซึ่งหากช่วยเหลือ 2 เรื่องนี้ได้ เชื่อว่าการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทยสามารถที่จะประคองตัวได้ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและค่าเงินของประเทศคู่ค้าอ่อนตัว"

 

"สำหรับ 2 เดือนแรกปีนี้ ภาพรวมการส่งออกของกลุ่มเครื่องนุ่งห่มติดลบ 9.40% มีมูลค่า 435.43 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนตลาดในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น ขยายได้ดี 10-15% เพราะได้กลุ่มนักท่องเที่ยวในและนอกประเทศ ประเมินว่าทั้งปีเครื่องนุ่มห่มน่าจะโต 2-4%" นายถาวร กล่าว

 

สำหรับภาพรวมการส่งออกไทยปี 2558 มีโอกาสติดลบค่อนข้างสูง หรืออาจโตได้เต็มที่ 0% เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า เศรษฐกิจยุโรปที่เป็นคู่ค้าหลักยังไม่ดีขึ้น สหรัฐฯยังดีขึ้นไม่มาก ทั้งนี้ ตลาดส่งออกของไทยน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งคงต้องรอดูสถานการณ์

 

โดยปัจจัยที่ต้องติดตามดู คือ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยจะดีขึ้นหรือไม่ และกลุ่มตลาดใหม่จะเติบโตได้เร็วเพื่อทดแทนกับกลุ่มประเทศอื่นที่เศรษฐกิจไม่ดีได้หรือไม่ เพราะทางผู้ส่งออกก็ได้พยายามในการหาตลาดใหม่มาชดเชยตลาดเก่าที่ซบเซา ผลักดันการส่งออก อาทิ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น หรือในยุโรปบางประเทศ ที่ผู้ประกอบการยังไม่เคยเข้าไปทำตลาดมาก่อน