HOT

ปัดฝุ่น "เวสเทิร์นซีบอร์ด" หนุนอุตฯเหล็กต้นน้ำในไทย
POSTED ON 27/03/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา "นายวิน วิริยประไพกิจ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) เข้าพบ "นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช" รมว.อุตสาหกรรม เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันตก หรือ เวสเทิร์น ซีบอร์ด ในพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีมีนโยบายจะรื้อฟื้นโครงการดังกล่าวขึ้นมาอีกครั้ง

 

โครงการเวสเทิร์น ซีบอร์ด มีลักษณะเดียวกับโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (อีสเทิร์น ซีบอร์ด) เพื่อจะส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ เนื่องจากปัจจุบันไทยต้องนำเข้าเหล็ก 10 ล้านตันต่อปี ซึ่งการลงทุนโรงงานเหล็กต้นน้ำจะต้องมีขนาด 4 ล้านตันต่อปี จึงจะคุ้มทุน

 

นายจักรมณฑ์ กล่าวว่า "ขณะนี้ประเทศไทยมีโรงงานผลิตเหล็กกลางน้ำใน จ.ระยอง ดังนั้น การพัฒนาเวสเทิร์น ซีบอร์ด ควรมีอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำด้วย ส่วนจะมีอุตสาหกรรมอื่นอะไรบ้างนั้น รวมถึงกรอบการพัฒนาพื้นที่ การจัดตั้งคณะกรรมการ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะนำเสนอ ครม. พิจารณาในอีก 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นคาดว่าจะมีความชัดเจนขึ้น และมั่นใจว่าจะผลักดันให้เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดนี้"

 

"สำหรับเอกชนอย่างเครือสหวิริยานั้นถ้าสนใจเข้าร่วมก็สามารถเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าวได้ เนื่องจากบริษัทฯเองก็มีพื้นที่ขนาดใหญ่และท่าเรือรองรับอยู่แล้ว จากเดิมที่เคยมีแผนลงทุนตั้งโรงงานเหล็กต้นน้ำ ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อยู่แล้ว ก็สามารถเป็นโครงการนำร่องในระยะแรกไปก่อน และหลังจากนั้นค่อยขยายพื้นที่อื่นๆ ต่อไป" นายจักรมณฑ์ กล่าว

 

สำหรับโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะใช้พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2 หมื่นไร่ ซึ่งจะเป็นพื้นที่โรงงานประมาณ 1.5 หมื่นไร่ อีก 5 พันไร่ เป็นการจัดวางระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ถนน ประปา พร้อมกับพื้นที่กันชน โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร ตั้งแต่การผลิตเหล็กต้นน้ำ อย่างโรงถลุงเหล็ก ไปจนถึงเหล็กในขั้นกลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงอาจจะมีอุตสาหกรรมบริการด้านโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นมาด้วย เพื่อเป็นจุดต่อเชื่อมออกสู่ทะเลอ่าวไทย ที่ต่อเชื่อมโครงข่ายมาจากเมียนมาร์

 

ขณะที่ความเป็นห่วงในเรื่องของการต่อต้านจากมวลชนในพื้นที่นั้น ในส่วนนี้คงจะต้องนำเสนอ ครม.เศรษฐกิจ เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่ดูแลด้านความมั่นคงไปดูแล เพราะต้องยอมรับว่าพื้นที่ดังกล่าวมีปัญหาการต่อต้านโรงงานอุตสาหกรรมที่สะสมมาอย่างยาวนาน

 

ในส่วนของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ได้เคยทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันตก หรือ เวสเทิร์น ซีบอร์ด มาตั้งแต่ปี 2539 แล้ว ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ ไจก้า โดยวางแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันตก เพื่อการเชื่อมโยงโครงข่ายกับเมียนมาร์เปิดประตูเศรษฐกิจสู่อันดามัน โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 6 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร แต่ไม่ได้มีการขับเคลื่อนต่อ

 

ขณะที่ล่าสุดพื้นที่ภาคตะวันตกมีศักยภาพมากขึ้น หลังจากไทยและเมียนมาร์กำลังร่วมกันพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ซึ่งจุดนี้รัฐบาลมีแนวคิดที่จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมผลิตเหล็กต้นน้ำ เชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลตะวันตกขึ้นมา 1 ชุดเพื่อดำเนินการศึกษาขับเคลื่อนต่อไป ส่วนเสียงคัดค้านจากกลุ่มคนในพื้นที่ขณะนี้น่าจะต่างไปจากเมื่อ 8 ปีที่แล้ว

 

ถ้าโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นก็ต้องมีอุตสาหกรรมหนักในพื้นที่ เช่น โรงถลุงเหล็ก โรงงานผลิตเหล็กแปรรูปขั้นปลาย โรงไฟฟ้า และมองว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้นั้นภาครัฐต้องนำร่อง โดยเฉพาะการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่ต้องผลักดันและมีภาคเอกชนมาร่วมด้วย

 

สอดคล้องกับที่กลุ่มทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นครั้งที่แล้ว มีค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นแลกเปลี่ยนข้อมูลกับนายกรัฐมนตรีว่า ปัจจุบันฐานการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยยังต้องนำเข้าเหล็กคุณภาพสูงจากญี่ปุ่นอยู่ เนื่องจากในไทยไม่มีโรงงานถลุงเหล็ก ส่วนผู้ผลิตเหล็กในประเทศก็ยังไม่สามารถผลิตได้ตามสเปกที่ค่ายรถยนต์ต้องการ ซึ่งทุกค่ายรถยนต์ต้องให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค หากมีโรงถลุงเหล็กเกิดขึ้นในประเทศไทยจริงก็น่าจะเป็นเรื่องดี