HOT

อุตฯยิปซัม เจอศึกหนัก ถูกแย่งตลาด-โดนค่าภาคหลวงเพิ่ม
POSTED ON 17/03/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - หนังสือพิมพ์มติชนรายงานข่าวโดยระบุว่า แหล่งข่าวจากผู้ผลิตแร่ยิปซัมในประเทศไทยเผยถึงกลุ่มผู้ผลิตแร่ยิปซัมของไทยประมาณ 20-30 ราย กำลังประสบปัญหาการประกอบธุรกิจและการส่งออก เพราะถูกประเทศโอมานซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าแย่งตลาดอินเดียมาตลอด 5 ปี และตลาดเวียดนาม ตั้งแต่ต้นปี 2558

 

โดยโอมานได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลในการสนับสนุนประกอบการเหมือง เก็บค่าภาคหลวงอัตราต่ำ และมีบริษัทค้าข้ามชาติทำตลาดให้ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัทคนไทยรายใหญ่อันดับต้นของประเทศ พร้อมกับเผชิญปัญหาจากการที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เตรียมปรับปรุงเกณฑ์การกำหนดราคาขั้นต่ำในการส่งออกแร่ยิปซัม เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ประเมินเรียกเก็บค่าภาคหลวงมาอยู่ที่ 22 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 18.50 เหรียญสหรัฐต่อตัน ทั้งๆ ที่เพิ่งมีการปรับเพิ่มในเดือน มิ.ย.2557 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเร็วกว่าปกติ จากเดิมที่เคยมีการเปลี่ยนแปลงราคา 2-3 ปี และเพิ่มครั้งละ 1-1.5 เหรียญสหรัฐต่อตัน

 

โดยแหล่งข่าวกยังกล่าวด้วยว่า การกำหนดราคาครั้งใหม่จะซ้ำเติมผู้ผลิตไทยที่ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ทำให้ได้รับผลกระทบและแข่งขันในตลาดโลกยากขึ้น ก่อนหน้านี้เคยทำหนังสือคัดค้านและหารือกับ กพร.แล้ว หากจะยังเดินหน้ากลุ่มผู้ผลิตจะยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี รมว.อุตสาหกรรม และคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขอให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านต้นทุนให้แข่งขันด้านส่งออกได้ หากรัฐปล่อยไปอย่างนี้ กังวลว่าจะเสียตลาดส่งออกในอาเซียนทั้งหมดเร็วๆ นี้ เหมือนกรณีอินเดียที่ปัจจุบันแทบจะไม่เหลือคำสั่งแล้ว

 

ด้าน นายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า กพร.มีแนวคิดจะปรับปรุงราคาประกาศของแร่ยิปซัม เพื่อให้มีความเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลาของปี โดยเบื้องต้นในปี 2558 ได้ประเมินการเรียกเก็บค่าภาคหลวงแร่อยู่ที่ 22 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 อยู่ที่ 18.50 เหรียญต่อตัน เพื่อให้รัฐได้รับส่วนแบ่งที่เหมาะสมขึ้น ซึ่งกรมฯได้หารือกับผู้ประกอบการและนักวิชาการเพื่อกำหนดราคาที่เหมาะสมของราคาประกาศ แต่ก็มีผู้ประกอบการบางรายคัดค้าน ซึ่งกรมฯเข้าใจปัญหาของผู้ประกอบการและกำลังพิจารณาอยู่ แต่หากเทียบคุณภาพแร่ยิปซัมของไทยกับของต่างประเทศแล้วจะพบว่าแร่ยิปซัมของไทยมีคุณภาพสูงกว่ามาก และสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แร่ที่มีมูลค่าสูงมากขึ้นได้ ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการหันไปเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมให้มีมูลค่าเพิ่มแทนการส่งออกในปริมาณมาก เชื่อว่าแร่ยิปซัมของไทยยังจะสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างแน่นอน