HOT

สภาอุตฯ หวั่น สัมปทานรอบ 21 ไม่คืบ ทำคนตกงานเพียบ
POSTED ON 27/04/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - หนังสือพิมพ์แนวหน้ารายงานในวันนี้ (27 เม.ย.2558) ว่า นายเจน นำชัยศิริ รองประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และรองประธาน ส.อ.ท. ระบุว่าต้องการให้รัฐบาลเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 อย่างเร่งด่วน เพราะถ้าหากไม่ตัดสินใจหรือดำเนินการล่าช้าอาจทำให้บริษัทก่อสร้างแท่นขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียมกลางทะเลอาจต้องปลดพนักงานออก และทำให้พนักงานย้ายไปกับทำงานแท่นขุดเจาะในต่างประเทศ เพราะมีความมั่นคงมากกว่า และถึงแม้ว่าไทยจะเดินหน้าโครงการในภายภาคหน้า แต่ก็อาจเกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้ เนื่องจากพนักงานอาจไม่กลับมาทำงานกับบริษัทเดิมได้อีก

 

นอกจากนี้ นายเจน ยังกล่าวด้วยว่า "ในส่วนของการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้นยังไม่เห็นวี่แววว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด จึงมีความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนเนื่องจากการดำเนินนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลไม่มีความชัดเจนพอที่จะให้ผู้รับสัมปทานสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมลงทุนต่อไปอีก"

 

"ระยะเวลาในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมนั้นใช้เวลานานมาก ตั้งแต่เริ่มขุดเจาะสำรวจจนถึงวันแรกที่เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์อาจใช้เวลาถึง 10 ปี เห็นได้จากที่ผ่านมาไทยมีการขุดเจาะ การผลิต และการใช้ปิโตรเลียมมาเป็นเวลากว่า 40 ปี มีการเปิดสัมปทานไปแล้ว 20 รอบ โดยเฉลี่ย 2 ปีต่อหนึ่งรอบ แต่สัมปทานรอบที่ 21 ห่างจากสัมปทานรอบที่ 20 กว่า 6 ปี และในรอบที่ 20 ก็ขุดพบปิโตรเลียมน้อยมาก ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนในเชิงพาณิชย์ จึงถือได้ว่าสัมปทานรอบที่ 21 ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นไปมากแล้ว ดังนั้น หากชะลอการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมใหม่ออกไปอย่างไม่มีกำหนด จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงของพลังงานในประเทศ" นายเจน กล่าว

 

ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า "การจัดหาพลังงานเพื่อสำรองไว้ใช้สำหรับอนาคตเป็นเรื่องจำเป็น แม้ว่าในปัจจุบันราคาพลังงานได้ปรับตัวลดลงตามราคาในตลาดโลก แต่ในอนาคตไม่รู้ว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาประเทศมหาอำนาจหลายประเทศต้องการที่มีพลังงานไว้ในมือ และในหลายประเทศพลังงานทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการเมือง จึงมองว่าการมีสำรองพลังงานเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ เพราะถ้าหากต้องรอกฎหมายจะทำให้เกิดความล่าช้าออกไปอีก ซึ่งการรอพิจารณาเรื่องกฎหมายจะทำให้เสียเวลา เสียโอกาส และถือว่าเป็นความเสี่ยงของประเทศ และกระทบต่อความเชื่อมั่นทำให้นักลงทุนไม่กล้าเข้ามาลงทุน"

 

แหล่งข่าวจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า การที่รัฐบาลยังไม่สรุปเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ทำให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจก่อสร้างแท่นขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเลรายหนึ่งได้เริ่มปลดพนักงานไปแล้ว 700 คน เพราะไม่รู้ว่ารัฐจะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร จึงต้องลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไปก่อน

 

ก่อนหน้านี้ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน ยอมรับว่าสอบตกเรื่องการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 จากเดิมจะมีการพิจารณาเสร็จสิ้นในเดือน ก.พ.2558 แต่ต้องประกาศยกเลิกไป โดยจากนี้ไปจะเป็นกระบวนการเพื่อแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 3 เดือน ซึ่งการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมจะเป็นหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)