HOT

อุตฯร่วมกลาโหมสำรวจแร่ควอตซ์-เหล็กในเขตทหาร
POSTED ON 27/04/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมลงนามร่างบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับกระทรวงกลาโหม เพื่อเข้าไปสำรวจแร่ในพื้นที่ทหาร คาดว่าจะลงนามได้ภายในเดือน พ.ค.2558 นี้

 

โดยเบื้องต้น พบว่า มีสายแร่สำคัญที่อยู่ในเขตทหาร ได้แก่ แร่ควอตซ์ และแร่เหล็ก โดยแร่ควอตซ์จะพบในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี คาดว่ามีมากกว่า 1 ล้านตัน รวมทั้งใน จ.ราชบุรี, เพชรบุรี และ สุพรรณบุรี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ทหาร คาดว่าจะมีสำรองทั่วประเทศหลายร้อยล้านตัน แต่ยังไม่สามารถระบุชัดได้ว่ามีสำรองจริงเท่าใด เพราะเป็นเพียงการสำรวจจากพื้นที่ภายนอกเท่านั้น จึงต้องเจาะสำรวจตามหลักวิชาการในพื้นที่จริงเพื่อหาปริมาณแร่ที่ชัดเจนต่อไป

 

สำหรับแร่ควอตซ์หากนำมาผ่านการแปรรูปจะสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างมหาศาล ซึ่งแร่ควอตซ์ดิบจะมีมูลค่าประมาณ 1,500 บาทต่อตัน แต่หากนำมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นควอตซ์เมทัลเกรดจะใช้แร่ควอตซ์ 3 ตัน ผลิตเมทัลเกรดได้ 1 ตัน แต่จะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 50,000 บาทต่อตัน และหากนำไปแปรรูปเป็นโซลาร์เกรดที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตโซลาร์เซลล์ ปริมาณแร่จะลดลงเหลือ 80% แต่จะมีมูลค่าเพิ่มไปถึง 900,000 บาทต่อตัน ซึ่งจะสร้างรายได้เพิ่มให้กับประเทศอย่างมหาศาล

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีโรงงานผลิตแร่ควอตซ์เมทัลเกรดแล้ว 2 โรง และล่าสุดได้มีต่างชาติเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตควอตซ์โซลาร์เกรดแล้ว 1 แห่ง ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะใช้เงินลงทุนมากกว่า 50,000 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างเสร็จภายใน 2 ปี จะมีกำลังการผลิตโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้า 500 เมกะวัตต์ต่อปี ซึ่งทดแทนการนำเข้าโซลาร์เซลล์ของไทยได้ทั้งหมดและยังมีส่วนเหลือส่งออกได้บางส่วน โดยโซลาร์เซลล์ที่ผลิตจากไทยจะมีต้นทุนสู้กับโซลาร์เซลล์ที่ผลิตจากจีนได้ ดังนั้น หากสามารถร่วมมือกับฝ่ายทหารเปิดเหมืองแร่ควอตซ์ได้เพิ่มขึ้น จะดึงดูดต่างชาติให้มั่นใจในวัตถุดิบ และเข้ามาตั้งโรงงานผลิตโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้น

 

"ที่ผ่านมาได้มีเอกชนชาวไทยได้เข้ามาขออาชญาบัตรสำรวจแร่ควอตซ์ 3-4 ราย หากมีการออกประทานบัตรผลิตแร่ได้ เชื่อว่าจะมีการลงทุนเปิดโรงถลุงแร่ควอตซ์เมทัลเกรดเพิ่มอีกหลายโรง ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแร่ควอตซ์ของไทย จากที่เคยส่งออกในรูปของแร่ดิบที่ทำให้ประเทศชาติได้ประโยชน์จากแร่ควอตซ์น้อยมาก" อธิบดี กพร. กล่าว

 

ส่วนแร่เหล็กนั้นพบอยู่มากในบริเวณเขาทับควาย จ.ลพบุรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของทหาร คาดว่ามีแร่เหล็กสำรองประมาณ 60-80 ล้านตัน และเป็นแร่เหล็กที่มีคุณภาพสูงมาก ซึ่งหากรวมกับแหล่งแร่เหล็กต่างๆ ของไทยแล้วจะมีปริมาณสำรองมากกว่า 100 ล้านตัน โดยในขณะนี้ราคาแร่เหล็กตกต่ำมีราคาประมาณ 1,200 บาทต่อตัน แต่ถ้าในช่วงที่ตลาดโลกมีความต้องการสูงราคาแร่เหล็กอาจเพิ่มไปถึง 2,500-3,000 บาทต่อตัน

 

"หลังจากที่กระทรวงกลาโหมและกระทรวงอุตสาหกรรมลงนามเอ็มโอยูร่วมมือกันแล้ว จะเริ่มดำเนินการสำรวจปริมาณแร่ต่างๆ ในพื้นที่ทหารทั้งหมด เพื่อให้มีข้อมูลปริมาณสำรองแร่ที่ชัดเจน จากนั้นหากฝ่ายทหารที่เป็นเจ้าของพื้นที่เห็นว่ามีความคุ้มค่าและควรที่จะพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่ม ทาง กพร.ก็จะเข้าไปร่วมมือในการพัฒนาต่อไป" นายสุรพงษ์ กล่าว