HOT

กลาโหม เบรคร่วมตั้งนิคมฯกำจัดกากอุตฯ
POSTED ON 11/03/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นายจักรมณฑ์ ผาสุกสนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายในเดือน มี.ค.2558 นี้ จะเสนอแผนการจัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปี ต่อ ครม. ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้าน โดยมีเป้าหมายที่จะนำโรงงานเข้าสู่ระบบและให้มีการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมายไม่น้อยกว่า 90% ภายในระยะเวลา 5 ปี

 

สำหรับยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ประกอบด้วย (1) การกำกับดูแล/บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ติดตามการต่อใบอนุญาตโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรม รวมทั้งพัฒนาระบบติดตามการขนส่งกากอันตรายให้สมบูรณ์ (2) ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เข้มงวดกับผู้ฝ่าฝืน/อำนวยความสะดวกกับผู้ปฏิบัติตาม (3) การสร้างความร่วมมือ/แรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการนำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบ และ (4) การสนับสนุนเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งที่เป็นเครือข่ายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรม 6 แห่ง สำหรับ 20-30 ปีข้างหน้า และแผนการจัดการแผงโซลาร์เซลล์ที่จะหมดอายุใน 20 ปีข้างหน้าอีกเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2 แสนตัน

 

ขณะที่ทางด้านกระทรวงกลาโหมได้ขอเลื่อนการลงนามความร่วมมือตั้งนิคมอุตสาหกรรมบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.), กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และกรมการอุตสาหกรรมทหาร ออกไปก่อน เนื่องจากต้องการพิจารณารายละเอียดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียด เพราะเกรงว่าอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะแต่งตั้งคณะทำงานฯ เพื่อชี้แจงรายละเอียดกับกระทรวงกลาโหมอีกครั้ง

 

โดยในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้นั้นหากพบว่าเอกชนสนใจลงทุนจัดตั้งนิคมฯกำจัดกากเอง เพราะมีกฎข้อบังคับให้ผู้ประกอบการนำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบมากขึ้น ก็อาจให้เอกชนดำเนินการได้เช่นกัน เนื่องจากปัญหาใหญ่ขณะนี้คือการลงทุนทำนิคมฯที่ต้องใช้เงินสูงมาก ถ้าไม่มีกากเข้ามากำจัดก็ไม่คุ้มค่า รัฐจึงต้องนำร่องให้ก่อน

 

กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าที่จะให้กากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าสู่ระบบเพิ่มเป็น 1.5 ล้านตัน จากปัจจุบันไทยมีกากอุตสาหกรรมอันตราย 3.35 ล้านตัน แต่ปี 2557 มีการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 1 ล้านตันเท่านั้น โดยล่าสุด ณ สิ้นปี 2557 มีโรงงานที่ได้ลงทะเบียนในระบบจัดการกากอุตสาหกรรมแล้ว 17,384 โรงงาน คิดเป็น 25% ของจำนวนโรงงานจำพวก 3 ที่ต้องกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมซึ่งแจ้งประกอบกิจการทั่วประเทศประมาณ 68,000 โรงงาน แต่มีโรงงานที่มีการส่งขยะอุตสาหกรรมออกไปกำจัด/รีไซเคิลแล้วจริงๆ เพียง 7% หรือ 5,300 โรงงาน จาก 68,000 โรงงาน

 

แม้จะเลื่อนการลงนามฯ ดังกล่าว แต่การลงนามระหว่างกันอีก 2 ฉบับ ยังดำเนินต่อไปภายในเดือน มี.ค.2558 นี้ คือ ความร่วมมือการนำทรัพยากรแร่ในเขตพื้นที่ทหารมาใช้ประโยชน์ระหว่างกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และกรมการอุตสาหกรรมทหาร, ความร่วมมือการตั้งนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศระหว่าง กนอ. และ กรมการอุตสาหกรรมทหาร

 

ส่วนความคืบหน้าโครงการพัฒนาเตาเผาขยะร่วม (ขยะชุมชนกับกากอุตสาหกรรม) ขนาด 500 ตัน/วัน (ระยะเวลา 5 ปี) และโครงการพัฒนาแผนจัดตั้งนิคมบริหารกากอุตสาหกรรม (ระยะเวลา 1 ปี) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น โดยองค์กร NEDO (New Energy and Industrial Technology Development Organization) ได้แจ้งยืนยันแล้วว่าจะให้การสนับสนุน