HOT

อุตฯเหล็กแนะรัฐเก็บเซอร์ชาร์จนำเข้าเหล็ก 30% เป็นเวลา 1 ปี
POSTED ON 11/03/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ รายงานข่าวว่า ในเร็วๆ นี้ ทางสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวกับเหล็ก อาทิ สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน, สมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี, สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย, สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น, สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์กไฟฟ้า จะรวมตัวกันยื่นหนังสือถึง "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อขอให้มีมาตรการปกป้องสินค้าเหล็กจากจีนที่เข้ามาทุ่มตลาดและเป็นเหล็กคุณภาพต่ำเข้ามาขายในราคาถูก

 

โดยเสนอให้รัฐบาลอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 49 พิจารณากำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษ(เซอร์ชาร์จ) สำหรับการนำเข้ามาในราชอาณาจักร เช่น ท่อเหล็ก เหล็กแผ่น เหล็กเคลือบ เหล็กรูปทรงยาว ในอัตรา 30% เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล็กได้รับการคุ้มครองอย่างทันท่วงที จนสามารถดำรงธุรกิจต่อไปได้ รวมทั้งช่วยยืดเวลาในการพัฒนาความสามารถให้พร้อมสำหรับการลงทุนเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต ในขณะที่ภาครัฐยังสามารถนำรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษนี้ ไปพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ได้

 

ฐานเศรษฐกิจยังรายงานเพิ่มเติมถึงแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลด้วยว่า หนังสือที่จะยื่นถึงนายกรัฐมนตรีได้ระบุสาเหตุความเดือดร้อนของอุตสาหกรรมเหล็กที่เกิดขึ้นจนกลายมาเป็นปัญหาร้องเรียนในครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่ความไม่สงบทางการเมืองระหว่างปี 2556-2557 ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า ความไม่มั่นใจในการลงทุนของภาคเอกชน ความขาดเสถียรภาพของรัฐบาลที่ผ่านมา ปัญหาเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กภายในประเทศ

 

นอกจากนี้ ผู้ผลิตเหล็กชนิดต่างๆ ภายในประเทศยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กจำนวนมากจากต่างประเทศที่มีการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม นับจากที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กของโลกชะลอตัวไปด้วย ในขณะที่กำลังการผลิตเหล็กของโลกกลับเพิ่มขึ้น จึงเกิดปัญหามีเหล็กส่วนเกินล้นตลาดโลกอยู่จำนวนมาก ขณะที่ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกกลับได้รับการอุดหนุนอย่างไม่เป็นธรรมจากรัฐบาลในการส่งออก ทำให้เกิดการทุ่มตลาดเหล็กมายังกลุ่มอาเซียนจากประเทศจีน อินเดีย เกาหลีใต้ บราซิล ไต้หวัน โดยส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กราคาต่ำและไม่ได้มาตรฐานออกมาจำนวนมาก รวมทั้งมีการสำแดงเท็จเพื่อหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าที่มีอยู่ในปัจจุบันโดยวิธีการต่างๆ เช่น สำแดงถิ่นกำเนิดเท็จ และหรือสำแดงวัตถุประสงค์การนำเท็จมายังประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทย

 

ทั้งนี้ มาตรการเยียวยาของอุตสาหกรรมเหล็กในปัจจุบันแม้จะมีการใช้มาตรการเอดีและเซฟการ์ดสำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กบางรายการไปแล้ว แต่กฎหมายที่มีอยู่และการบังคับใช้มีข้อจำกัดไม่สามารถครอบคลุมหรือมีประสิทธิผลเพียงพอ หากต้องดำเนินการไต่สวนใหม่เพื่อกำหนดมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ก็ต้องใช้เวลา 6-12 เดือน หรือมากกว่านี้ ทำให้การเยียวยาอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไม่ทันท่วงทีต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

 

ด้านแหล่งข่าวจากผู้นำเข้าเหล็กม้วนชุบสังกะสีรายหนึ่งให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าปัจจุบันเหล็กจากจีนที่มีคุณภาพดีก็มีมากขึ้น จึงสงสัยว่าทำไมทุกวันนี้คนต่อต้านเหล็กจากจีนกันมากนัก ทั้งที่บิลเล็ตซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเหล็กเส้นเป็นส่วนใหญ่ก็มาจากจีน ซึ่งเวลานี้เหล็กเส้นในประเทศไทยราคาก็อยู่ในระดับเดียวกับจีนแล้ว โดยส่วนตัวไม่อยากให้รัฐบาลปกป้องผู้ผลิตในประเทศมากเกินไป

 

"20 กว่าปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจะได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลมาตลอด และควรจะเติบโตได้มากกว่านี้ เพราะเมื่อ 10 ปีก่อน ความต้องการใช้เหล็กในประเทศอยู่ที่ 10 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันเพิ่มเป็น 17 ล้านตันต่อปี ก็พบว่าส่วนที่เพิ่มขึ้นราว 7 ล้านตันนั้นส่วนใหญ่ก็มาจากการนำเข้าเหล็กคุณภาพดีมาจากญี่ปุ่นสำหรับใช้ในการผลิตยานยนต์ ขณะที่โรงงานผลิตเหล็กก็ยังไม่ขยายตัว ทั้งนี้ รัฐควรจะเปิดกว้างให้เกิดการแข่งขัน เพราะเวลานี้รัฐบาลก็ใช้เครื่องมือเกือบทุกตัวในการตั้งกำแพงภาษีเหล็ก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือเอดีเหล็ก และดำเนินมาตรการปกป้องการนำเข้า (เซฟการ์ด) และล่าสุดก็มีการเรียกร้องจากผู้ผลิตเหล็กในประเทศที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอให้คุ้มครองโดยเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับเหล็กนำเข้าอีก ก็ต้องติดตามว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลจะเห็นชอบด้วยหรือไม่" แหล่งข่าว กล่าว

 

อนึ่ง พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ระบุว่า เซอร์ชาร์จ ควรใช้ในกรณีที่จำเป็น เพื่อให้ความคุ้มครองกิจการของผู้ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ โดยนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลชนิดเดียวกัน คล้ายคลึงกัน หรือทดแทนกันได้กับที่ผู้ได้รับการส่งเสริมผลิตหรือประกอบในอัตราที่เห็นสมควรแต่ไม่เกิน 50% ของราคา รวมค่าประกันภัยและค่าขนส่งนอกประเทศของผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลนั้น การกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ใช้บังคับตามระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดคราวละไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป