HOT

"ซินเคอหยวน" โวย มอก.เหล็ก ล็อกสเป็ก-กีดกันการค้า
POSTED ON 05/03/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ รายงานในวันนี้ (5 มี.ค.2558) ว่า ทางบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ผู้ผลิตเหล็กจากเตาไฟฟ้าเหนี่ยวนำ (Induction) ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เรื่องขอความเป็นธรรมกรณีการออกกฎเกณฑ์ที่กีดกันทางการค้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็ก และกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ล่าช้า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ลงนามโดย "นายสิริชัย ภู่ตระกูล" ทนายความ (ฝ่ายกฎหมาย) ซึ่งมีการระบุรายละเอียด 4 หน้า สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้...

 

เตาอินดักชั่นเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับการยอมรับในยุโรป อเมริกา และเอเชีย มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ ใช้พลังงานต่ำ ต้นทุนการผลิตถูก และผลผลิตได้เกณฑ์ตามมาตรฐานดีกว่ามาตรฐานที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด บริษัทฯ ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ใบอนุญาต ร.ง.4 และได้รับอนุญาตให้ประกอบโลหกรรมจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้รับใบอนุญาตทำผลิตภัณฑ์เหล็กข้ออ้อย ตามใบอนุญาตเลขที่ ท.493-1212/24 ลว.15 กรกฎาคม 2557 และใบอนุญาตทำผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นกลม เลขที่ ท.875-596/20 ลว.21 มกราคม 2558 จาก สมอ.

 

แต่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 2838 และฉบับที่ 3334 กำหนดว่า การผลิตเหล็กเส้นคอนกรีต 2 ชนิด คือ เหล็กเส้นกลม และเหล็กข้ออ้อย จะต้องผลิตจากเหล็กแท่งที่มีกรรมวิธีการผลิต 3 แบบ คือ (1) Open Hearth (2) Basic Oxygen และ (3) Electric Arc Furnace เป็นการล็อกสเป็กการผลิต เป็นการกีดกันทางการค้า ไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเสรีในระหว่างผู้ประกอบการผลิต ประกาศทั้ง 2 ฉบับใช้มานับสิบปี ไม่มีการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีของโลก และในปลายปี 2558 ไทย จะเข้าสู่ AEC ไม่สามารถกีดกันสินค้าจากประเทศสมาชิกอาเซียนได้

 

ทาง สมอ.กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องปลดล็อกและผ่อนคลายกรรมวิธีการผลิตเหล็กเส้นกลมและเหล็กข้ออ้อย ให้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิตจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนผู้บริโภคในราคาถูกและเป็นธรรม ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เคยทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นเวลาเกือบปียังไม่คืบหน้า แต่ทราบอย่างไม่เป็นทางการว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการวิชาการคณะที่ 9 (ก.ว.9) แต่ประชุมเกือบ 10 ครั้งไม่ได้ข้อยุติ มีการตั้งคณะทำงานซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการวิชาการเพื่อหน่วงเหนี่ยวไม่ให้มีการปรับปรุงแก้ไขกรรมวิธีการผลิต เป็นการเอื้อประโยชน์แก่โรงงานผู้ผลิตเหล็กในประเทศบางโรงงานที่ใช้กรรมวิธีแบบที่ 3 อิเล็กทริกอาร์กเฟอร์เนซ

 

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ตรวจสอบที่มาของ ก.ว.9 แล้วพบว่า กรรมการวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิบางคนเป็นตัวแทนแต่งตั้งจากบริษัทผู้ผลิตเหล็กเส้นที่ใช้กรรมวิธีการผลิตแบบอิเล็กทริกอาร์กเฟอร์เนซ คือ บริษัท เหล็กสยาม (2001) จำกัด, บริษัท ไทยสตีลบาร์ส จำกัด, บริษัท โรงงานเหล็กกรุงเทพ จำกัด และ บริษัท เอ็น ที เอส สตีล จำกัด (มหาชน) กรรมการเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องที่พิจารณากรรมวิธีการผลิต ต้องห้ามเด็ดขาดไม่ให้พิจารณา ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 หากกรรมการชุดดังกล่าวยังฝืนเข้าร่วมพิจารณา อาจเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นความผิดทางอาญาได้

 

ดังนั้น คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสมควรนำข้อเท็จจริงที่บริษัทได้เสนอมา เพื่อตรวจสอบประกอบการพิจารณา เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการ ด้วยการเร่งรัด ปรับปรุง แก้ไข หรือผ่อนคลาย และให้ใช้กรรมวิธีการผลิตแบบเตาอินดักชั่นที่มีประสิทธิภาพผลิตสินค้าตรงตามมาตรฐาน จะเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะที่ผู้บริโภคจะได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้าที่ถูกลง และมีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่ราชการกำหนด

 

ล่าสุด สมอ.พิจารณาหนังสือร้องเรียนดังกล่าว และได้แจ้งไปยังบริษัท ซิน เคอ หยวน ว่า จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเทคโนโลยีและคุณภาพการผลิตเหล็ก เพื่อหาข้อสรุปโดยเร็ว

 

ทั้งนี้ ประชาชาติธุรกิจยังรายงานด้วยว่า แหล่งข่าวจากวงการผู้ผลิตเหล็กเปิดเผยถึงหนังสือร้องเรียนที่บริษัท ซิน เคอ หยวน ทำมาถึง สมอ. ส่งผลกระทบทำให้ สมอ.ชะลอการประกาศร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หมายเลข มอก. 20-2543 เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต : เหล็กเส้นกลม และ มอก. 24-2548 เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต : เหล็กข้ออ้อย ยังไม่ประกาศออกมา ทั้งที่ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว โดยอาจจะมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาพิจารณา