HOT

เลื่อนขอสัมปทานปิโตรฯรอบ 21 ไปถึง 16 มี.ค.2558
POSTED ON 17/02/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ถึงการเปิดให้มีการยื่นคำร้องขอสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ว่า สาเหตุที่จะต้องใช้รูปแบบสัมปทาน เนื่องจากเห็นว่ามีความเหมาะสมกับสภาพเชื้อเพลิงของไทย เนื่องจากผู้ที่มาสำรวจสัมปทานนั้นต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ส่วนเมื่อพบเชื่อเพลิงแล้วจะผลิตได้มากน้อยแค่ไหนถือเป็นความเสี่ยงของผู้ที่รับสัมปทานไปสำรวจ จึงสามารถคำนวณความเสี่ยงเหล่านี้รวมอยู่ได้ด้วยกัน ถ้าหากไม่รู้ว่าระบบผลิตเป็นแบบไหน การคำนวณก็จะลำบาก ซึ่งกฎหมายไทยก็เอื้อให้กับระบบสัมปทาน

 

"ที่ผ่านมาก็ชัดเจนว่าผลประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากพอที่จะรักษาระบบนี้ไว้ จึงประกาศออกไปให้มีการยื่นคำร้องขอสัมปทาน โดยเดิมที่กำหนดให้สิ้นสุดการยื่นในวันที่ 18 ก.พ.2558 นี้ แต่มีผู้ไม่เห็นด้วยและร่วมกันลงนามเพื่อขอให้เลื่อนและยกเลิกระบบสัมปทาน โดยที่ประชุม กพช.มีมติให้ขยายวันสิ้นสุดกำหนดยื่นคำร้องขอสัมปทานออกไปจนถึงวันที่ 16 มี.ค.2558 และจะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ที่มีความสงสัยในระบบสัมปทาน เข้ารับฟังข้อมูลและทำความเข้าใจร่วมกันในวันที่ 20 ก.พ.2558 เวลา 9.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และจะมีการถ่ายทอดสดผ่านทางช่อง 11" รมว.พลังงาน เผย

 

ด้าน นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่า สำหรับในกรณีการเปิดให้มีการเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกรณีเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ในวันที่ 20 ก.พ.2558 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยินดีที่จะร่วมให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อจะให้สังคมในทุกภาคส่วนได้รับข้อมูลที่ชัดเจน ถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจของรัฐบาล โดยคำนึงถึงความมั่นคงด้านพลังงาน และผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ

 

"กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ขอยืนยันว่า ขั้นตอนการให้สัมปทานทุกขั้นตอนโปร่งใส เปิดโอกาสให้มีการประมูลแข่งขันโดยเสรีเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียมกำหนดไว้อย่างชัดเจน ตรวจสอบคุณสมบัติ และตรวจสอบเอกสารหลักฐานเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่ประกาศเชิญชวน เมื่อผ่านคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอ คณะกรรมการปิโตรเลียม และจะต้องผ่านการพิจารณาจาก ครม. ทาง รมว.พลังงาน จึงจะสามารถออกสัมปทานได้ ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 5–6 เดือนเป็นอย่างน้อย" นางพวงทิพย์ กล่าว

 

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ ได้มีการรายงานถึงแนวโน้มสถานการณ์พลังงานในปี 2558 ซึ่งมีอัตราการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 53 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ลดลงจากปี 2557 ซึ่งอยู่ในระดับเฉลี่ย 97 ดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลงถึงร้อยละ 45 และอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 3.79 บาท/หน่วย ลดลงจากเฉลี่ยปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 3.93 บาท/หน่วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน

 

ขณะที่ นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้รายงานแผนการหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติ ปี 2558 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของไทย โดยในช่วงครึ่งปีแรกผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในสหภาพเมียนมาร์จะหยุดซ่อมบำรุง 2 ช่วงเวลาคือ 11–19 เม.ย. และ 20–27 เม.ย.2558 ส่วนครึ่งปีหลังแหล่งผลิตก๊าซฯ JDA พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ก็จะหยุดซ่อมบำรุงช่วงเดือน มิ.ย. และ ก.ย.2558 ซึ่งทางกระทรวงฯ ขอยืนยันว่า ได้เตรียมแผนรองรับสถานการณ์ดังกล่าวไว้พร้อมแล้ว ทั้งการซักซ้อมแผนรองรับสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานในวันที่ 18 มี.ค.2558 การกำกับดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความพร้อมดำเนินการตามแผน โดยได้มีการขอความร่วมมือกับประเทศมาเลเซียให้มีการจัดส่งก๊าซฯ เพิ่ม และใช้น้ำมันเตามาผลิตไฟฟ้าแทน ซึ่งเป็นช่วงจังหวะที่ดีเพราะราคาน้ำมันเตาราคาถูกลง ขณะเดียวกันจะรณรงค์กับทุกภาคส่วนร่วมกันประหยัดพลังงานในช่วงเวลาดังกล่าว

 

ที่มา : แนวหน้า, ประชาชาติธุรกิจ