HOT

จีเอ็มโต้ข่าวปลดคนงาน ย้ำเป็นโครงการลาออกแบบสมัครใจ
POSTED ON 12/03/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นางสาวจีรณัฐ แสงดี ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ จีเอ็ม ประเทศไทย และ เชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย เปิดเผยถึงกระแสข่าวที่บริษัทฯจะปรับลดพนักงานลง 30% นั้นว่าไม่เป็นความจริง ซึ่งการปรับลดพนักงานตามโครงการพนักงานลาออกโดยสมัครใจ (Voluntary Separation Program) ที่รวมอยู่ในแผนการปรับโครงสร้างองค์กรนั้น เป็นการปรับตัวของกลุ่มจีเอ็มโดยไม่ได้มองถึงภาวะเศรษฐกิจในไทย

 

แผนการปรับโครงสร้างองค์กรของจีเอ็มในประเทศไทยที่ได้ประกาศแล้วนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและขีดความสามารถในการแข่งขันและมุ่งเน้นจุดแข็งของจีเอ็มในกลุ่มรถกระบะและรถเอสยูวี ขณะที่ในส่วนของรถยนต์นั่งนั้นยังคงมีการผลิตเชฟโรเลต ครูซ แต่ได้ปิดสายการผลิตรถยนต์นั่งเชฟโรเลต โซนิค

 

"แผนการปรับโครงสร้างองค์กรเป็น pure business position นั้น บริษัทฯไม่ได้มองว่าตลาดเป็นอย่างไร แต่ตัดสินใจบนพื้นฐานของธุรกิจองค์กรล้วนๆ มองที่ความยั่งยืนเป็นสำคัญ ซึ่งตามแผนที่วางคือองค์กรจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น 30% ไม่เกี่ยวกับจำนวนพนักงาน แต่เกี่ยวข้องกับ total efficiency ขององค์กร" นางสาวจีรณัฐ กล่าว

 

เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2558 ที่ผ่านมา เจนเนอรัล มอเตอร์ส(จีเอ็ม) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกาศแผนกลยุทธ์การพลิกโฉมธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมทั้งสำนักงานในกรุงเทพฯ และศูนย์การผลิตฯใน จ.ระยอง โดยกลยุทธ์ดังกล่าวจะขับเคลื่อนให้แบรนด์เชฟโรเลตเดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว และเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปรับโครงสร้างที่จีเอ็มเตรียมดำเนินการทั่วทั้งภูมิภาค

 

ภายใต้แผนดังกล่าวจีเอ็มจะปรับเปลี่ยนกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองต่อทิศทางของตลาดและความต้องการของลูกค้า โดยยังคงทำการผลิตและจำหน่ายรถกระบะเชฟโรเลต โคโลราโด เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ และรถเอสยูวี เชฟโรเลต แคปติวา รวมถึงรถยนต์นั่งเชฟโรเลต ครูซ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้มียอดขายคิดเป็นสัดส่วน 75% ของเชฟโรเลตในประเทศไทย และคิดเป็นสัดส่วนราว 95% ที่จีเอ็ม ประเทศไทย ส่งออกสู่ต่างประเทศ

 

ในส่วนของรถยนต์นั่งเชฟโรเลต โซนิค และรถอเนกประสงค์เอ็มพีวี เชฟโรเลต สปินจะหยุดจัดจำหน่ายเมื่อสิ้นสุดแผนการตลาดของรุ่นปีล่าสุด รวมถึงจีเอ็ม ประเทศไทย ได้แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้วว่าจะถอนตัวจากการเข้าร่วมโครงการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน (อีโคคาร์) ระยะที่ 2

 

นางสาวจีรณัฐ กล่าวว่า ตามแผนดังกล่าวจะมีโครงการพนักงานลาออกโดยสมัครใจด้วย ซึ่งได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ.2558 ที่ผ่านมา โดยไม่มีกำหนดเวลาชัดเจนว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด เนื่องจากต้องการให้พนักงานมีเวลาตัดสินใจ และจีเอ็มไม่ได้กำหนดเป้าหมายจำนวนพนักงานที่จะลดลงตามแผน แต่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของพนักงานเป็นสำคัญ โดยมีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่พึงพอใจสำหรับพนักงานในปัจจุบันที่ต้องการจะเข้าร่วมโครงการ ทั้งพนักงานในส่วนสำนักงานและระดับปฏิบัติการ

 

ปัจจุบันจีเอ็มในไทยมีพนักงานราว 3,000 คน ใน 3 ส่วน ได้แก่ ศูนย์การผลิตรถยนต์ ที่มีจำนวนพนักงานมากสุดกว่า 2,000 คน ศูนย์การผลิตเครื่องยนต์ มีพนักงานกว่า 500 คน ส่วนที่เหลือเป็นพนักงานในส่วนของสำนักงานขาย ขณะที่มีโรงงาน 2 แห่งใน จ.ระยอง ได้แก่ โรงงานผลิตเครื่องยนต์ และโรงงานประกอบรถยนต์ และมีส่วนแบ่งตลาดในไทยราว 3%

 

ขณะที่ทางโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ก็ออกมายืนยันเช่นกันว่า แผนการผลิตรถยนต์ในประเทศปีนี้ยังคงเป็นไปตามที่วางไว้ โดย นายเคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ย้ำว่า บริษัทฯไม่มีแนวคิดที่จะปลดพนักงาน ทั้งพนักงานประจำและพนักงานพาร์ทไทม์ ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าในปีนี้ตลาดรวมรถยนต์ของไทยจะมียอดขายราว 9.2 แสนคัน ขณะที่โตโยต้าคาดว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดราว 40% หรือมียอดขายประมาณ 3.3 แสนคัน

 

โดยโตโยต้ายังคงยืนยันความพร้อมสำหรับการลงทุนผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน (อีโคคาร์) เฟส 2 แต่ทั้งนี้อยู่ระหว่างรอดูทิศทางภาพรวมตลาดและเศรษฐกิจ

 

ด้าน นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผู้ประกอบการรถยนต์ในไทยยังคงเดินหน้าผลิตรถยนต์ตามแผนที่ในปีนี้ โดยยังไม่มีการปลดพนักงานหรือการเพิ่มวันหยุดยาวตามที่มีกระแสข่าวแต่อย่างใด แต่การที่แนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่ยังเติบโตช้าและปัญหาการเมืองในประเทศช่วงที่ผ่านมากระทบต่อการอนุมัติส่งเสริมโครงการลงทุนผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน (อีโคคาร์) เฟส 2 ทำให้เป้าหมายการผลิตรถยนต์ของไทยที่ระดับ 3 ล้านคันในปี 2560 นั้น ต้องยืดออกไปเป็นช่วงปี 2562-2563 แทน

 

"ทาง ส.อ.ท.ได้สอบถามไปยังทุกค่ายเกี่ยวกับกรณีข่าวเรื่องการปลดพนักงานและวันหยุดยาว หลายรายก็บอกว่าไม่จริง การหยุดหลายวันติดต่อกันก็เป็นธรรมดาในช่วงที่มีวันหยุดฟันหลอ ก็เป็นปกติของผู้ผลิตรถยนต์ที่จะให้หยุดติดต่อกันไปเลย ขณะที่ในช่วงช่วงซัพไพร์มแม้ยอดขายจะลดลงไปเยอะมาก ก็ยังไม่มีการเลิกจ้าง เพราะบุคลากรด้านการผลิตต้องรักษาไว้ และปีนี้การผลิตก็ยังมากกว่าปีที่แล้วด้วย" นายสุรพงษ์ กล่าว

 

ส่วนกรณีที่บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส จำกัด (ประเทศไทย) หรือ จีเอ็ม ได้ถอนตัวจากการเข้าร่วมในโครงการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ เฟส 2 นั้นอาจจะมีผลบ้าง แต่ไม่มากนัก ทั้งนี้ เชื่อว่าคงเป็นการปรับแผนการลงทุนในภูมิภาคเอเชียของทางจีเอ็มเอง ไม่ได้เกี่ยวกับแนวโน้มตลาดรถยนต์ในประเทศ อีกทั้งจีเอ็มอาจจะมีการลงทุนในสายการผลิตอื่นทดแทน ขณะที่ยังคงมีผู้ผลิตรถยนต์อีกหลายค่ายที่ยังคงเดินหน้าลงทุนในโครงการอีโคคาร์ เฟส 2 อยู่ต่อไป