HOT

พลังงาน ปรับเงื่อนไขสัมปทานปิโตรฯ รอบ 21 พ้องตามข้อเสนอ สปช.
POSTED ON 06/02/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ปรับปรุงเงื่อนไขในประกาศเชิญชวนเอกชนให้เข้ามาขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 21 รวม 29 แปลง ในพื้นที่บนบกและในทะเล ที่กำหนดปิดรับข้อเสนอของผู้ประกอบการในวันที่ 18 ก.พ.2558 นี้

 

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปด้านพลังงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กระทวงพลังงานจึงเห็นควรมีมาตรการในการดำเนินการดังกล่าว โดยได้เพิ่มเติมเงื่อนไขในประกาศเชิญชวนเพิ่มขึ้นอีก 2 ข้อ ดังนี้

 

1. ในข้อ 2.4 วรรค 2 คือ ให้ผู้ยื่นขอทุกรายจะต้องยินยอมให้กระทรวงพลังงานเปิดเผยคำขอ พร้อมทั้งโครงการและข้อผูกพันด้านปริมาณเงินและปริมาณงานที่ยื่นประกอบคำขอเมื่อสิ้นสุดการพิจารณา

 

2. ในข้อ 4.8 เรื่องในกรณีที่รัฐมีนโยบายให้นำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือระบบบริหารจัดการอื่นใด มาใช้สำหรับแปลงสำรวจในอ่าวไทยหมายเลข G3/57 G5/57และ G6/57 เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับศักยภาพปิโตรเลียมของแปลงดังกล่าวยิ่งขึ้น รัฐบาลอาจใช้สิทธิ์แจ้งให้ผู้ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมาเจรจาเพื่อตกลงและยินยอมเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับประโยชน์ สิทธิ และหน้าที่ เพื่อเป็นไปตามนโยบายดังกล่าวได้ โดยทั้ง 2 ฝ่ายต้องเจรจาเพื่อให้บรรลุข้อตกลงอย่างเป็นธรรมและสอดคล้องกับสัญญาที่มีอยู่ระหว่างกันภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กฎหมายจะได้กำหนดต่อไป โดยการใช้สิทธิแจ้งของรัฐบาลตามข้อนี้จะต้องดำเนินการภายใน 4 ปีแรกของระยะเวลาการสำรวจ

 

สำหรับแปลงสัมปทาน G3/57 G5/57 และ G6/57 คือ 3 ใน 29 แปลงที่นำออกมาเปิดประมูล เพียงแต่เป็น 3 แปลงเดิมที่มีผู้สำรวจไว้ว่ามีโอกาสพบปิโตรเลียม แต่ไม่คุ้มค่าเชิงพาณิชย์ จึงคืนสัมปทาน ทาง ชธ.จึงนำมาเปิดประมูลใหม่อีกครั้ง แต่ใน 3 แปลง จะเป็นการใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC ตามข้อเสนอแนะของ สปช. ที่ต้องการให้นำระบบ PSC มาทดลองใช้กับประเทศไทย ในขณะที่ 26 แปลงที่เหลือ จะยังคงใช้ระบบสัมปทานตามเดิม

 

ทั้งนี้ ขั้นตอนการทำงานหลังครบกำหนดยื่นสิทธิ์สำรวจ 18 ก.พ.2558 ก็จะพิจารณาคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอ คณะกรรมการปิโตรเลียม รมว.พลังงาน นำเสนอ ครม.เห็นชอบ หลังจากที่กระทรวงพลังงานออกสัมปทานโดย ครม.อนุมัติก็จะเริ่มเวลานับ 4 ปี หน่วยงานที่รับผิดชอบออกกฎหมายซึ่งจะต้องประมวลจากความเห็นทุกๆ ฝ่ายก่อนนำเสนอนโยบายให้รัฐบาลนำยกร่างเป็นกฎหมายหลังกฎหมายบังคับใช้รัฐบาลก็จะขอใช้สิทธิ์ใน 3 สัมปทานดังกล่าวมาเจรจาต่อรอง แต่หากรัฐออกกฎหมายไม่ทันใน 4 ปี หรือเจรจาตกลงไม่ได้เงื่อนไขนี้ก็จะต้องเป็นอันตกไป

 

นางพวงทิพย์ กล่าวว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ประเมินปริมาณปิโตรเลียมทั้ง 29 แปลง คาดว่าจะมีปริมาณก๊าซธรรมชาติ 1.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต น้ำมันดิบ 20-50 ล้านบาร์เรล และหากมีการลงทุนครบทุกแปลง จะมีมูลค่าลงทุนรวม 5,000 ล้านบาท

 

ที่มา : แนวหน้า