HOT

แก้มาตรฐานเหล็กเส้น ป้องกันเหล็กนำเข้าเจืออัลลอย
POSTED ON 29/01/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีเหล็กเส้นก่อสร้างเจืออัลลอยเข้ามาตีตลาดเหล็กเส้นที่ผลิตภายในประเทศไทย โดยใช้ช่องโหว่ของกฎหมายที่อนุญาตให้เหล็กที่เจืออัลลอยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า เนื่องจากเป็นเหล็กเกรดพิเศษที่ไม่มีการผลิตภายในประเทศ ซึ่งการที่กฎหมายเปิดช่องไว้ก็เพื่อให้สามารถนำเข้าเหล็กแผ่นเจืออัลลอยเกรดพิเศษเข้ามาผลิตสินค้าในบางชนิดได้ ทำให้ผู้ผลิตต่างชาติใช้ช่องว่างนี้เจืออัลลอยประเภทโบรอนหรือโครเมียมในเหล็กเส้นก่อสร้าง เพื่อเลี่ยงภาษีศุลกากร 5% สร้างความได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรมกับผู้ผลิตเหล็กเส้นภายในประเทศไทย

 

ทางสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) จึงได้ให้คณะกรรมการฝ่ายวิชาการไปศึกษาผลกระทบจากการเจืออัลลอยในเหล็กเส้นก่อสร้าง พบว่า อาจก่อให้เกิดอันตรายในการใช้งานได้ จึงได้ปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต : เหล็กเส้นกลม มอก.20-2543 และเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต : เหล็กข้ออ้อย มอก.24-2548 ห้ามผสมอัลลอยในเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต โดยอนุญาตให้มีโบรอนได้ไม่เกิน 0.0008% หรือมีโครเมียมไม่เกิน 0.3% ซึ่งในสัดส่วนดังกล่าวจะเป็นเกรดไม่ผสมอัลลอย ดังนั้น หากเหล็กเส้นเจืออัลลอยสูงกว่าที่กำหนด ก็จะไม่สามารถใช้ในการก่อสร้างได้ หรือเป็นการปิดช่องไม่ให้เหล็กเส้นเจืออัลลอยเข้ามาสวมสิทธิ์ขอลดภาษีสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งอย่างไม่เป็นธรรม และยังเป็นการคุมคุณภาพเหล็กเส้นให้อยู่ในมาตรฐานที่สูง

 

"ในการผสมอัลลอยในเหล็กเสริมคอนกรีตไม่ได้ช่วยให้เหล็กมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด และอาจเกิดผลกระทบมากกว่า สมอ.จึงเห็นว่าควรจะปรับมาตรฐานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศไทย โดยการปรับปรุงมาตรฐานดังกล่าวขณะนี้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแสดงความคิดเห็น หลังจากนั้นจะดำเนินขั้นตอนทางกฎหมาย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3-4 เดือน" นายจักรมณฑ์ กล่าว

 

นอกจากนี้ สมอ.ยังอยู่ระหว่างการปรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 5 กลุ่ม ประกอบด้วย (1) กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (2) ยานยนต์และชิ้นส่วน (3) ผลิตภัณฑ์ยาง (4) วัสดุก่อสร้าง และ (5) ผลิตภัณฑ์ไม้ รองรับการเปิดประชาคมอาเซียน (เออีซี) ปลายปี 2558 เพื่อให้เป็นมาตรฐานที่สอดคล้องกับหลักสากล

 

สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งศูนย์ทดสอบอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์นั้นจะเริ่มจากศูนย์ทดสอบยางล้อและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับยางล้อทุกประเภทตามมาตรฐาน UNECE R117 ก่อนในเฟสแรก โดยจะลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเสนอ ครม. โดยในเฟสแรกจะขอใช้งบกลางในปี 2558 แต่ถ้าไม่ได้ ก็จะของบในปี 2559 แต่ในปี 2558 นี้จะของบกลางบางส่วนไม่กี่ล้านบาทในการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับโครงการให้สามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วในปี 2559 โดยมีระยะเวลาผลตอบแทนการลงทุน 12 ปี หากเก็บค่าบริการทดสอบจากภาคเอกชน

 

ส่วนศูนย์ทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนเต็มโครงการจริงๆ จะใช้เงินลงทุนรวม 1,600-2,000 ล้านบาท จะมีทั้งหมด 3 เฟส คาดว่าจะใช้เวลาพัฒนาทั้งหมด 4 ปีจากนี้ไป โดยขณะนี้ สมอ.กำลังประสานหาพื้นที่กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่

 

ที่มา : แนวหน้า, ASTV ผู้จัดการ