HOT

อุตฯเร่งพัฒนา "เชียงของ" เป็นฮับโลจิสติกส์ลุ่มน้ำโขง
POSTED ON 28/01/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - "นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช" รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้บริหารของกระทรวงฯ พร้อมด้วย "นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม" ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พร้อมคณะ ผู้บริหารระดับสูง เดินหน้าลงพื้นที่เป้าหมายที่จะใช้ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับการเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปลายปี 2558 โดยเริ่มลงพื้นที่ จ.เชียงราย ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) ได้แก่ ไทย กัมพูชา พม่า ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ (มณฑลยูนนานและกวางสี)

 

พร้อมกันนี้ยังได้รับฟังบรรยายสรุปเรื่องแนวทางเตรียมความพร้อมในการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ จาก ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย โดยแนวทางพัฒนาพื้นที่ใน จ.เชียงราย ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 4 ยุทธศาสตร์ คือ (1) การสนับสนุนพัฒนาอุตสาหกรรมและเชื่อมโยงการผลิตอย่างยั่งยืน (2) การสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (3) การส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบการอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ (4) การส่งเสริมการลงทุน เพื่อรองรับเศรษฐกิจกลุ่มจังหวัดชายแดนและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 นี้

 

นายจักรมณฑ์กล่าวว่า พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจะสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยได้ ดังนั้น จึงกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงาน ร่วมกัน อาทิ การปรับโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวก ได้แก่ ถนน ไฟฟ้า น้ำ และระบบราง โดยในเร็วๆ นี้ จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านพื้นที่เพื่อกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีศักยภาพ โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธานฯ

 

ด้าน นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กนอ. อยู่ระหว่างการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชียงของ พัฒนาโดย บริษัท เมืองเงิน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ ประมาณ 462 ไร่ อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายจะเน้นให้บริการด้านโลจิสติกส์ คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2560 และหากแล้วเสร็จก็จะทำให้มูลค่าการค้าการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังกลายเป็นจุดที่สอดรับต่อระบบขนส่งที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนเติบโตขึ้น เพราะมีการเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศอาเซียนและจีนตอนใต้อีกด้วย

 

ที่มา : แนวหน้า, ASTV ผู้จัดการ