HOT

กรอ.เตรียมแผนดึงขยะอุตฯเข้าระบบ 1.5 ล้านตัน
POSTED ON 21/01/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นายพสุ โลหารชุณ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ "นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช" รมว.อุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กรอ.ไปจัดทำแผนการกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ยังเป็นปัญหา เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่สามารถนำมากำจัดได้อย่างถูกวิธี และยังมีการลักลอบทิ้งตามที่สาธารณะ ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการเร่งแก้ไขปัญหาขยะที่มีปริมาณมาก เพื่อนำเสนอให้ ครม.รับทราบภายในเดือน ก.พ.2558 นี้

 

โดยแผนดังกล่าวจะมีแนวทางในการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว 5-10 ปี ซึ่งในระยะสั้นจะเป็นแผนต่อเนื่องจากการดำเนินงานเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา ที่พยายามผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมนำกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบการกำจัดเพิ่มมากขึ้น โดยการเข้าตรวจสอบโรงงานเป้าหมายกว่า 5,000 แห่ง ซึ่งสามารถนำกากเข้าระบบได้แล้วประมาณ 1.1 ล้านตันต่อปี ขณะที่ปี 2558 กระทรวงอุตสาหกรรมต้องการให้ กรอ.ดำเนินการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมเข้มข้นขึ้น โดยให้ตรวจสอบโรงงานเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 แห่ง จากโรงงานที่มีอยู่กว่า 80,000 แห่ง ซึ่งจะช่วยให้มีกากอุตสาหกรรมเข้าสู่การกำจัดได้ถึง 1.5 ล้านตันต่อปี อีกทั้งจะใช้งบกว่า 14 ล้านบาทเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ GPS กับรถขนส่งขยะอุตสาหกรรมที่ออกจากโรงงาน ซึ่งจะทำให้สามารถติดตามขยะที่ออกจากโรงงานไปจนถึงแหล่งกำจัดได้แบบเรียลไทม์อีกด้วย

 

รวมถึงจะมีการเข้มงวดในการต่อใบอนุญาตประกอบการกิจการ หรือ รง.4 ที่โรงงานอุตสาหกรรมจะต้องแสดงข้อมูลในการนำกากอุตสาหกรรมไปกำจัดในรอบปีที่ผ่านมา นำมาประกอบการพิจารณาต่อใบอนุญาตให้ หากโรงงานใดไม่มีข้อมูล ก็จะไม่ได้รับการพิจารณาต่อใบอนุญาตให้ โดยในส่วนนี้ได้มีการหารือร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ไปแล้ว

 

ส่วนระยะกลางนั้น หลังจากที่ได้เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นเพื่อเยี่ยมชมวิธีการกำจัดกากอุตสาหกรรมและขยะชุมชนของประเทศญี่ปุ่นเมื่อช่วงกลางเดือน ม.ค.2558 ที่ผ่านมา ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) กับทางกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ที่จะให้ความช่วยเหลือ โดยจะส่งทีมงานมาร่วมศึกษาต้นแบบโรงงานเตาเผาขยะอุตสาหกรรมและขยะชุมชน และจัดหาสถานที่ก่อสร้าง พร้อมทั้งส่งอุปกรณ์เครื่องจักรให้แก่ไทย ซึ่งขนาดของโรงงานน่าจะเป็นขนาดใหญ่เผาขยะได้ไม่ต่ำกว่า 400 ตันต่อวัน หรือใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งหากลงทุนอาจจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนร่วมลงทุนได้โดยตรง และมีแผนเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2559 ซึ่งมองว่าพื้นที่แรกน่าจะเป็นจังหวัดสมุทรปราการ เพราะอยู่ใกล้กับแหล่งกากอุตสาหกรรม และมีขยะชุมชนรวมอยู่ด้วย

 

ส่วนแผนระยะยาวนั้น มองเป็นเรื่องของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมกำจัดกากขึ้นมา ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับกระทรวงกลาโหม ในการจัดหาที่ราชพัสดุมาใช้ตั้งเป็นนิคมกำจัดกากครบวงจร รวมทั้งการจัดหาพื้นที่เหมืองแร่ที่ใกล้หมดอายุใช้เป็นที่ฝังกลบกากอุตสาหกรรมอันตราย เริ่มสำรวจการใช้พื้นที่เหมืองแร่ในพื้นที่ภาคเหนือแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับการส่งเสริมให้มีโรงงานเตาเผาขยะ ซึ่งจะมีผลพลอยได้ในการผลิตไฟฟ้าขึ้นมานั้น ทาง กรอ.อยู่ระหว่างประสานกับกระทรวงพลังงาน เพื่อจะหารือในการอุดหนุนผู้ลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเพิ่มอัตราการสนับสนุนค่าไฟฟ้าจากรูปแบบฟีดอินทาริฟ (FiT) ที่ปัจจุบันให้อยู่ประมาณ 2.39-3.13 บาทต่อหน่วย เนื่องจากเป็นโรงงานที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงเพื่อดูแลปัญหาไม่ให้มีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

 

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ