HOT

สมอ.เสนอตั้งศูนย์ทดสอบยางรถ หนุนอุตฯผลิต-แปรรูปยางในประเทศ
POSTED ON 12/01/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นายหทัย อู่ไทย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผย ว่า สมอ.เตรียมเสนอแผนการจัดตั้งศูนย์ทดสอบคุณภาพยางล้อรถยนต์ในรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถยนต์เพื่อการขนส่ง ตามมาตรฐานของ United Nation Economic Commission for Europe (UNECE) ต่อ "นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช" รมว.อุตสาหกรรม พิจารณาอนุมัติ และเสนอต่อ ครม. ในการเห็นชอบให้ก่อสร้างต่อไปภายในเดือน ม.ค.-ก.พ. นี้

 

สำหรับแผนพัฒนาฯ ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก สมอ.ตั้งคณะทำงานพิจารณาประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวม โดยเฉพาะวัตถุประสงค์หลัก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ยางพาราในประเทศที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยางล้อรถยนต์ของไทย

 

ด้านรายละเอียดของโครงการนั้น สมอ. คาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างสนาม และ งบประมาณในการทดสอบคุณภาพยางรวมทั้งสิ้น 400 ล้านบาท และจะขอใช้พื้นที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริเวณ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ 75 ไร่ โดยพื้นที่จัดตั้งอยู่ถือว่าใกล้กับโครงการท่าเรือน้ำลึกฝั่งตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด

 

ส่วนการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนนั้น ในปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.2557 - ก.ย.2558) สมอ.ตั้งเป้าออกใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ให้ได้กว่า 4,300 ราย ใกล้เคียงกับปีงบประมาณ 2557 โดยช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.-ธ.ค.2557) ได้ออกใบรับรองไปแล้ว 3,139 ราย จากปัจจุบันมี ผู้ประกอบการที่ยื่นขอรับรองมาตรฐาน รวมกับผู้ประกอบการรายเดิมที่ขอต่ออายุรวมกันทั้งสิ้นกว่า 16,000 ราย

 

"การออกใบรับรอง มผช. ที่มีจำนวนมากในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อผลักดันโครงการต่างๆ ให้เดินหน้าตามนโยบายเร่งด่วน ประกอบกับเกษตรกรหันมาทำอาชีพเสริมในช่วงนอกฤดูกาลเพาะปลูก โดยส่วนใหญ่กลุ่มสินค้าโอทอปที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจะเป็นผู้ประกอบการใน 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ (1) กลุ่มงานประดิษฐ์และศิลปะหัตถกรรม (2) อาหาร (3) เครื่องดื่ม (4) สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร และ (5) ผ้าและเครื่องนุ่งห่ม" นายหทัย กล่าว

 

นอกจากนี้ เอสเอ็มอีที่ผ่านการรับรองแล้ว 3,139 ราย คิดเป็นสินค้าโอทอปที่มีคุณภาพและมาตรฐานเกรดเอจำนวนกว่า 700-800 ราย ซึ่งบางรายสามารถปรับปรุงสินค้าจนสามารถส่งออกได้ ส่วนที่เหลือเป็นสินค้าเกรดบีที่ผ่านการรับรอง มผช.แล้วเช่นกัน แต่ยังต้องปรับปรุงรูปแบบสินค้า การจัดร้าน การทำการตลาด การบริหารจัดการที่มีปัญหาให้เป็นสินค้าเกรดเอให้ได้ต่อไป ขณะที่ผู้ประกอบที่ไม่ผ่านการรับรอง สมอ.ก็จะเก็บไว้ในฐานข้อมูล เพื่อจัดฝึกอบรมให้ความรู้ ตลอดจนให้คำปรึกษาแนะนำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้สินค้ามีคุณภาพและผ่านการรับรองต่อไปเช่นเดียวกัน

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ