FINANCE & INVESTMENT

สกย. หนุนตั้งโรงงานยางแปรรูป ขับเคลื่อน "เชียงราย" เป็นฮับยางฯ ภาคเหนือ
POSTED ON 04/02/2557


 

ข่าวการเงินและการลงทุน (Finance and Investment) - นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เปิดเผยหลังการประชุมผู้อำนวยการ สกย. 17 จังหวัดภาคเหนือว่า ที่ประชุมมีแนวคิดผลักดันให้จังหวัดเชียงรายเป็นศูนย์กลางยางพาราภาคเหนือ เนื่องจากเป็นจุดส่งออกสินค้ายางพาราไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ โดยเฉพาะทางจีนตอนใต้

 

ปัจจุบันในพื้นที่ภาคเหนือมีการปลูกยางพารามากว่า 10 ปี มีพื้นที่ปลูกยางทั้งหมดกว่า 1 ล้านไร่ มีผลผลิตประมาณ 200,000 ตัน จึงทำให้เกษตรกรจำนวนมากมีการเก็บผลผลิตน้ำยางออกมาจำหน่าย หรือส่งออกไปยังต่างประเทศในปริมาณที่มากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มของปริมาณยางพารากลับสวนทางกับปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง สกย.จึงกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเพื่อรวบรวมผลผลิตแปรรูปเพื่อการส่งออกโดยไม่เพิ่มจำนวนไร่ยางพาราขึ้นมาอีกซึ่งสอดคล้องกับพื้นที่ในจังหวัดเชียงรายที่เป็นจุดส่งออกสินค้ายางพาราที่สำคัญไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

 

"ขณะนี้ตลาดจีนตอนใต้ยังมีความมีต้องการยางเครป หรือยางก้อนถ้วยที่นำมาแปรรูปด้วยการรีดเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เกษตรกรที่เคยขายยางก้อนถ้วยสามารถทำการแปรรูปได้ ขณะที่ยางแผ่นรมควันปัจจุบันมีโรงงานตั้งอยู่ที่บ้านห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ ติดชายแดนไทย-ลาว ซึ่งเกษตรกรสามารถรวบรวมผลผลิตเพื่อนำไปแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควันได้" นายประสิทธิ์ กล่าว

 

นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ก่อนเข้าสู่เออีซี ในปี 2558 เกษตรกรยางพาราไทยต้องปรับตัวอย่างมากโดยเฉพาะด้านต้นทุนการผลิต เนื่องจากปัจจุบันสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ยางพาราจะล้นตลาดกว่า 1 ล้านตัน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านสามารถผลิตยางพาราได้เกือบทุกประเทศ และต้นทุนต่ำกว่าประเทศไทย อาทิ สปป.ลาว พม่า อินโดนีเซีย โดยในภาคเหนือสามารถทำได้ง่าย เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกยางพารารายละประมาณ 20-30 ไร่ จึงควรจะทำเองมากกว่าจ้างแรงงาน เนื่องจากต้นทุนของยางพาราส่วนหนึ่งเป็นค่าแรงถึง 40% แต่หากทำเองจะไม่เสียต้นทุน และ สกย.พร้อมให้การสนับสนุน

 

ด้าน นายอนันต์ยศ แก้วคุ้มภัย ผู้อำนวยการ สกย.เชียงราย กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดเชียงรายมีพื้นที่ยางพาราทั้งสิ้นประมาณ 680,000 ไร่ เป็นเกษตรกรที่ลงทะเบียนกับ สกย. 350,000 ไร่ จำนวน 25,053 ราย สามารถเปิดกรีดได้แล้วประมาณ 200,000 ไร่

 

ล่าสุด สกย.ได้ส่งเสริมให้มีศูนย์กลางสินค้าแปรรูปยางพาราที่อำเภอเชียงแสน รวมทั้งผลักดันให้ใช้งบประมาณของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วย เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน จำนวน 60 ล้านบาท ตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราที่บ้านห้วยซ้อ

 

ขณะที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงรายรายงานว่า ในปี 2556 มีมูลค่าการค้ายางพารารวมทั้งสิ้น 35,977.62 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 34,313.37 ล้านบาท นำเข้า 4,073.62 ล้านบาท เป็นการค้ากับ 3 ประเทศหลักคือ จีน พม่า และ สปป.ลาว ผ่านเส้นทางจุดผ่านแดนทั้งทางบกและทางเรือ สินค้ายางพาราส่งออกผ่านท่าเรือแม่น้ำโขงอำเภอเชียงแสนแห่งที่ 2 ส่วนใหญ่เป็นยางแผ่นรมควันชั้น 3 มูลค่าการส่งออกกว่า 433.08 ล้านบาท เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 2 รองจากชิ้นส่วนกระบือแช่แข็ง