FINANCE & INVESTMENT

กฟผ. ดึง EGCO และ ราชบุรีโฮลดิ้งฯ ถือหุ้น เล็งปรับโครงสร้างลงทุน
POSTED ON 02/02/2557


 

ข่าวการเงินการลงทุน (Finance and Investment) - นายธนา พุฒรังษี รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (Egati) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ที่จะ (1) ลดสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการต่างๆ ตามแผนลงทุน (2) ให้บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด หรือ RATCH เข้ามาถือหุ้น (3) หาพันธมิตรทางธุรกิจอื่นๆ เข้ามาร่วมลงทุน และ (4) จัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่าง กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล กับทั้ง EGCO และ RATCH เพื่อพัฒนาโครงการในต่างประเทศของ กฟผ.อินเตอร์ฯ เป็นรายโครงการตามความเหมาะสม

 

ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าวเกิดขึ้นจากข้อจำกัดในการลงทุนของ กฟผ.อินเตอร์ฯ ที่ปัจจุบันถือหุ้นโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งหมด จึงมีสถานภาพเสมือนเป็นรัฐวิสาหกิจ และต้องของบประมาณลงทุนทั้งหมดจาก กฟผ.ซึ่งในแต่ละโครงการลงทุนค่อนข้างสูง หาก กฟผ.ต้องกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอลงทุนทั้งหมดของบริษัทในเครือ อาจจะกระทบต่อเพดานหนี้สาธารณะของประเทศ รวมถึงกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ กฟผ.อินเตอร์ฯ ลงทุนได้เพียง 17,000 ล้านบาทเท่านั้น จากวงเงินดังกล่าวอาจจะทำให้ไม่เพียงพอสำหรับการลงทุนในแต่ละโครงการแน่นอน

 

เร็วๆ นี้จะมีการประชุมเพื่อกำหนดทิศทางหรือโครงสร้างทางการเงินใหม่อีกครั้ง เดิมทีบริษัทในเครือ กฟผ.ไม่ได้หยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณากันอย่างจริงจัง และมองแล้วว่าหากจะต้องใช้กรอบเงินของ กฟผ.อย่างเดียวเพื่อลงทุนคงเป็นไปไม่ได้

 

นายธนา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการที่ กฟผ.อินเตอร์ฯ ในปัจจุบันคือ (1) การซื้อกิจการเพื่อสร้างกำไร (2) โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเงี้ยบ 1 ใน สปป.ลาว ที่ถือหุ้นร้อยละ 30 จากมูลค่าลงทุนรวม 27,000 ล้านบาท กำลังผลิต 289 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างกำลังศึกษาโครงการการเงิน และรายงานแบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และ (3) โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนกวางจิ (Quang Tri) ในจังหวัดกวางจิประเทศเวียดนาม กำลังผลิต 1,200 เมกะวัตต์ ถือหุ้นทั้งหมด มูลค่าโครงการ 69,750 ล้านบาท

 

แต่เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องเงินลงทุนจึงกำลังอยู่ระหว่างเจรจากับรัฐบาลเวียดนาม เพื่อขอลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือร้อยละ 40 แล้วให้บริษัทลูกในเครือ กฟผ.เข้ามาร่วมถือหุ้นร่วม ในสัดส่วนรวมกันแล้วมากกว่าร้อยละ 60 ส่วนจำนวนหุ้นที่เหลืออาจเปิดโอกาสให้ทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติอื่นๆ

 

อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลเวียดนามต้องการให้ กฟผ.อินเตอร์ฯ ถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 51 เพราะมีความคาดหวังต่อโครงการนี้สูง ดังนั้น เร็วๆ นี้ กฟผ.อินเตอร์ฯ จึงจะทำหนังสือเพื่อยืนยันว่าจะรับผิดชอบต่อโครงการนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจ และในช่วงกลางปีนี้มีกำหนดจะลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) หลังจากติดปัญหาการเมืองในไทยทำให้ไม่สามารถลงนามในช่วงปลายปี 2556

 

นอกจากนี้ นายธนาได้กล่าวเพิ่มเติมถึงความร่วมมือกับสหภาพเมียนมาร์ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำฮัจยี และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำมายตง ที่ กฟผ.อินเตอร์ฯ ถือหุ้นอยู่ และต้องการให้เมียนมาร์เร่งรัดการจัดทำ EIA ของโครงการให้แล้วเสร็จ และลงนาม (MOA) ในเดือนกันยายน 2557 นี้ รวมถึงจะเร่งเจรจาค่าไฟให้จบภายในปีนี้ด้วย