FINANCE & INVESTMENT

แผนลงทุน กฟภ. 1.2 แสนล้านชะงัก เชื่อปีนี้ลงทุนได้ต่ำกว่าเป้าหมาย
POSTED ON 31/01/2557


 

ข่าวการเงินการลงทุน (Finance and Investment) - นายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ทางการเมือง และรัฐบาลเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ ส่งผลให้แผนการลงทุนของ กฟภ.ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 รวมการลงทุน 1.2 แสนล้านบาทต้องชะงัก เนื่องจากโครงการส่วนใหญ่ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ โดยสำหรับแผนที่จะต้องมีการลงทุนในเฉพาะปีนี้ เช่น โครงการระบบสายส่งไฟฟ้า Smart Grid ในพื้นที่อำเภอเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินใน 12 เมืองหลักในจังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ ฯลฯ และโครงการติดตั้งหลอดไฟฟ้า LED ทดแทนโคมไฟชนิดหลอด HID รวม 3 เฟส (พ.ศ.2555-2558) ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 8,760 ล้านบาท และการลงทุนด้านพลังงานทดแทนทั้งหมด

 

นอกเหนือจากนี้ บางโครงการยังอยู่ในระหว่างศึกษาความเหมาะสม และเป็นแผนงานพัฒนาตามนโยบายของรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ด้วย เช่น แผนพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ที่ก่อนหน้านี้ กฟภ.ได้นำกลับมาศึกษาความเหมาะสมเพิ่มเติมตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ทบทวนแผนการลงทุนและให้รอผลศึกษาจากกระทรวงคมนาคมที่ชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นจำนวนสถานีในแต่ละเส้นทางของรถไฟความเร็วสูง

 

"ทุกอย่างชะงักหมดในวงเงิน 1.2 แสนล้าน แต่ไม่ได้กระทบในแง่ของความมั่นคงในระบบสายส่งไฟฟ้า และในบางโครงการที่ได้รับอนุมัติก่อนหน้านี้ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง เช่น โครงการวางเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะต่างๆ ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการต่อเนื่องตามแผนพัฒนาฯ 9 และ 10" นายนำชัย กล่าว

 

นายนำชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า หากยังไม่มีรัฐบาลชุดใหม่เพื่อพิจารณาโครงการต่างๆ ภายในช่วงครึ่งปี 2557 นี้ มีแนวโน้มที่การลงทุนของ กฟภ.ตามแผนในปีนี้จะต้องเลื่อนออกไปเป็นปี 2558 แทน รวมถึงจากเดิมที่ต้องลงทุนอยู่ที่ระดับ 15,000-20,000 ล้านบาท/ปีนั้น อาจจะเหลือการลงทุนจริงเพียงประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาทเท่านั้น นอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ กฟภ.โดยตรงแล้ว ยังรวมถึงการลงทุนของบริษัทลูก คือ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ตั้งขึ้นมาสำหรับการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า ให้บริการฝึกอบรมด้านระบบไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีแผนจะลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง สปป.ลาว และสหภาพเมียนมาร์

 

สำหรับโครงการใน สปป.ลาว ของบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ นั้น ก่อนหน้านี้ได้ลงนามข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) ไปแล้วแต่ไม่มีความคืบหน้า จนขณะนี้ สปป.ลาว ได้มีหนังสือมาถามความชัดเจนถึงความพร้อมในการลงทุนแล้ว ซึ่งเร็วๆ นี้ต้องมีหนังสือชี้แจงกลับไปว่า บริษัทพีอีเอ เอ็นคอมฯยังติดปัญหาดังกล่าว ขึ้นอยู่กับทาง สปป.ลาว ว่าจะพิจารณาให้บริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ ร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวต่อไปหรือไม่

 

เมื่อลงทุนไม่ได้ตามแผนในช่วงปลายปีก็จะต้องดำเนินการคืนเงินที่ไม่ได้เกิดการลงทุน เพราะเงื่อนไขที่กำหนดไว้ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เนื่องจากการลงทุนของกิจการระบบส่งไฟฟ้าจะส่งผลต่อต้นทุนอัตราค่าไฟฟ้าฐานด้วย

 

รายงานข่าวจาก กฟภ.เพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตในกิจการไฟฟ้าทั้ง 3 กิจการไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ให้ลงทุนตามแผนการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกิจการผลิตไฟฟ้า ระบบสายส่งไฟฟ้า ซึ่งการลงทุนทั้งหมดจะถูกนำมาใช้ในการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า และให้มีการนำส่งคืนเงินที่ไม่สามารถดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ (Claw Back) พร้อมทั้งค่าสูญเสียโอกาสทางการเงินที่คำนวณจากอัตราดอกเบี้ยในระดับอย่างน้อยเท่ากับ MLR เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ 5 ลำดับแรกของประเทศ มาปรับลดให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าเพื่อลดภาระและสะท้อนการลงทุนจริงของกิจการไฟฟ้า

 

นอกเหนือจากนี้ กฟภ.ยังมีการเตรียมที่จะลงทุนเพื่อขยายเขตบริการไฟฟ้าในพื้นที่รับผิดชอบรวม 74 จังหวัด จากข้อมูลล่าสุดปัจจุบันทั่วประเทศมีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 73,363 หมู่บ้าน มีไฟฟ้าใช้แล้ว 73,348 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 99.98 เหลือหมู่บ้านที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ซึ่งอยู่ในพื้นที่หวงห้าม 15 หมู่บ้าน หรือร้อยละ 0.02 และจากครัวเรือนทั้งหมด 16,359,520 ครัวเรือน มีไฟฟ้าใช้แล้ว 16,212,750 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 99.10 เหลือครัวเรือนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ 146,770 ครัวเรือน หรือร้อยละ 0.90

 

กฟภ.ประเมินสำหรับรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าในปี 2556 จะอยู่ที่ประมาณ 400,000 ล้านบาท ในส่วนของกำไรน่าจะอยู่ที่ระดับ 18,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรอยู่เพียง 13,000-15,000 ล้านบาท