FINANCE & INVESTMENT

ตลาดแอฟริกาใต้ยังเปิดรับนักลงทุนต่างชาติอีกมาก
POSTED ON 29/01/2557


 

ข่าวการเงินและการลงทุน (Finance and Investment) - แอฟริกาใต้ถือว่าเป็นตลาดใหม่ สินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดนี้อยู่มาก อยากเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้ามาดูตลาด โดยศึกษาจากงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย จะเป็นประโยชน์มาก

 

สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่สนใจจะส่งออกสินค้าไทยมายังตลาดแอฟริกาใต้ มีคำแนะนำว่า ควรให้โอกาสผู้นำเข้าได้สั่งซื้อสินค้าเพื่อทดลองนำไปขาย พยายามผลิตตามความต้องการของลูกค้า เช่น เรื่องของราคา คุณภาพ เรื่องของแบบและสี ที่มีความชอบที่แตกต่าง คอยดูแลติดต่อสอบถามอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญต้องมีการบริการหลังการขายที่ดี

 

ส่วนปัญหาและอุปสรรคในการทำ ธุรกิจในแอฟริกาใต้ อยู่ที่หน่วยงานราชการท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องในเรื่องของงานเอกสาร เช่น การออกใบอนุญาตนำเข้ามีความล่าช้ามาก นอกจากนี้ เรื่องแรงงานท้องถิ่นที่ต้องทำทุกอย่างแบบรัดกุม โดยใช้บริษัทกฎหมายดูแล เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในระยะยาว ตัวอย่างคือการจ้างแบบชั่วคราวเดือนต่อเดือน หรือสามเดือนเท่านั้น และถ้าไม่มีปัญหาต่อกันก็สามารถต่อสัญญากันได้เรื่อยๆ เพื่อป้องกันการประท้วงและการเรียกร้อง

 

ส่วนเรื่องการสั่งออร์เดอร์กับธุรกิจขนาดย่อม (SMEs) บางครั้งเมื่อเกิดปัญหาจากการที่ชาวบ้านทำการผลิตไม่ทันเวลา เนื่องจากเป็นงานฝีมือ จึงแนะนำว่าควรมีการวางแผนให้ชาวบ้านเพื่อปรับกลยุทธ์การผลิต

 

เมื่อช่วงปลายปี 2556 ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำรายงานเกี่ยวกับตลาดแอฟริกาไว้ โดยชี้ให้เห็นว่ากระแสความน่าสนใจของทวีปแอฟริกาเริ่มกระเตื้องขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จากการที่นายกรัฐมนตรีฯ ของไทยได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐโมซัมบิก สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย และสาธารณรัฐยูกันดา อย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนสิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา เป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการสานต่อความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ภูมิภาคให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

 

ทวีปแอฟริกาอาจจะดูเป็นพื้นที่ห่างไกลสำหรับนักลงทุนชาวไทย แต่มีหลายปัจจัยที่เอื้อต่อศักยภาพในการดำเนินธุรกิจในพื้นที่แห่งนี้ โดยประเด็นสำคัญที่น่าสนใจในทวีปแอฟริกา ได้แก่ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคแอฟริกาที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ สิทธิประโยชน์ทางการค้ากับประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ การขยายตัวของชนชั้นกลางที่บ่งชี้ถึงศักยภาพในการซื้อที่มากขึ้น รวมถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่เปิดกว้าง

 

จากการที่มีทรัพยากรธรรมชาติและสถานะที่เอื้อต่อการลงทุนข้างต้น แอฟริกาจึงได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศในแถบเอเชียมีบทบาทสำคัญในการลงทุนในทวีปแอฟริกา โดยในปี 2554 มาเลเซียมีมูลค่าการลงทุนโดยตรงเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากฝรั่งเศส และสหรัฐฯ และเป็นอันดับที่ 1 ของเอเชีย นำหน้าจีนและอินเดีย มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยและแอฟริกาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยอดส่งออกใน ปี 2555 มีจำนวน 255,536 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 จำนวน 21,850 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.35

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าทั้งปี 2556 ยอดส่งออกจากไทยไปยังทวีปแอฟริกาจะขยายตัวประมาณร้อยละ 6.7 มูลค่ารวมประมาณ 272,577 ล้านบาท (คิดเป็นประมาณร้อยละ 4 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย) ซึ่งนับได้ว่าเติบโตสูงกว่าตลาดในภูมิภาคอื่น ๆ

 

นักลงทุนไทยยังมีศักยภาพในการเข้าทำตลาดในแอฟริกา ทั้งในแง่การค้าและการลงทุน จากจุดเด่นของทวีปแอฟริกาที่เอื้อต่อการขยายธุรกิจ หรือเฟ้นหาวัตถุดิบจากทรัพยากรธรรมชาติที่มี นอกจากนี้แอฟริกายังมีความได้เปรียบด้านปริมาณและค่าจ้างแรงงาน และสิทธิพิเศษทางการค้ากับประเทศชั้นนำ ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเลือกทวีปแอฟริกาเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมเบาซึ่งใช้แรงงานเข้มข้น