FINANCE & INVESTMENT

สภาหอการค้าฯ เผย พบการกีดกันการค้าในอาเซียนเพียบ
POSTED ON 28/01/2557


 

ข่าวการเงินและการลงทุน (Finance and Investment) - นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ ประธานคณะกรรมการความยั่งยืนทางธุรกิจ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากที่สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 หรืออีกไม่ถึง 2 ปีนับจากนี้ โดยส่วนหนึ่งของความตกลงจะมีการเปิดเสรีทางการค้าอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งโดยหลักการจะทำให้สินค้าจากประเทศสมาชิกสามารถเข้าไปทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้านได้โดยเสรีในอัตราภาษี 0% (ยกเว้นสินค้าอ่อนไหว) ดังนั้น จากความพร้อมในการเปิดเสรีของแต่ละประเทศที่ไม่เท่ากันขอให้จับตามองแต่ละประเทศจะมีการออกมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) และจะกลายเป็นอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) เพิ่มมากขึ้น

 

"ขอให้จับตามาตรการกีดกันจะเพิ่มมากขึ้นก่อนเปิดเออีซี ซึ่งจะเป็นอุปสรรคทางการค้าร้ายแรงกว่าภาษีที่ลดลงไป เนื่องจาก ในช่วงก่อนที่จะเปิดเออีซีตามความตกลงให้แต่ละประเทศสามารถคงมาตรการที่ออกไปแล้วไว้ได้  หลังเออีซีมีผลบังคับใช้จะต้องลด/เลิกมาตรการ แต่หากประเทศไหนจะออกมาตรการใหม่เพิ่มเติมก็สามารถทำได้ แต่ต้องแจ้งให้ประเทศสมาชิกรับทราบก่อนภายใน 6 เดือนซึ่งจะเห็นว่าการออกมาตรการยังสามารถทำได้ เพราะไม่ใช่ข้อบังคับ ปัจจุบันอินโดนีเซียถือเป็นประเทศที่มีมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้านมากที่สุด เพราะเขาเป็นประเทศใหญ่ ประชากรมาก ขาดดุลการค้ามาก  และไม่พร้อมจึงต้องออกมาตรการเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ"

 

ด้านแหล่งข่าวจากสำนักบริหารกิจการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันอินโดนีเซียถือเป็นประเทศที่มีมาตรการ หรือออกมาตรการเอ็นทีบีมากที่สุด ทั้งมาตรการการออกใบอนุญาตการนำเข้า (Import Licensing) เช่น ในสินค้าข้าวหอมมะลิ ต้องมีวัตถุประสงค์พิเศษในการนำเข้า เช่น นำเข้าเพื่อสุขภาพ การบริโภคพิเศษเฉพาะกลุ่ม ต้องจดทะเบียนเป็นผู้นำเข้า และต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียก่อน จากนั้นต้องขออนุญาตกระทรวงการค้าในการนำเข้าแต่ละชิปเมนต์  มาตรการควบคุมการนำเข้า (Import control) อุปกรณ์การเกษตรประเภทจอบ เสียม และพลั่วเป็นสินค้าควบคุม เนื่องจาก ต้องปกป้องสินค้าที่ผลิตในประเทศ โดยได้แต่งตั้งบริษัทผู้รับนำเข้าเพียง 3 ราย (รัฐวิสาหกิจอินโดฯ) และผู้นำเข้าต้องขออนุญาตนำเข้าจากกระทรวงการค้าอินโดฯ

 

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) เช่น ผักผลไม้ 47 รายการ ต้องนำเข้าจากแหล่งที่ปลอดจากการแพร่เชื้อแมลงวันผลไม้ นำเข้าได้ 3 ท่าเรือ 1 สนามบิน (ท่าเรือเมืองสุราบายา ท่าเรือเมืองเมดาน ท่าเรือเมืองมากัสซาร์ และสนามบินซูการ์โน-ฮัตตา) เป็นต้น

 

ส่วนฟิลิปปินส์ มีการห้ามนำเข้า (Import Prohibition) เช่น ในสัตว์ปีกได้เคยใช้มาตรการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกจากไทยเมื่อปี 2547 ซึ่งแม้ว่าจะได้ยกเลิกไปในปี 2555 แต่สินค้าสัตว์ปีกจากไทยยังนำเข้าไม่ได้เนื่องจากกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ไม่ออกหนังสืออนุญาตเพื่อรับรองสินค้าสัตว์ปีกจากไทย, มาเลเซีย ในสินค้าข้าวต้องนำเข้าผ่าน BERNAS และจะใช้มาตรการห้ามนำเข้าชั่วคราวในช่วงที่ผลผลิตในประเทศมาก ขณะที่เวียดนาม ในส่วนของสินค้าโทรศัพท์มือถือ เครื่องสำอาง เหล้าและไวน์ ให้นำเข้าได้ 3 ท่าเท่านั้น (นครโฮจิมินห์ ดานัง และไฮฟอง) บรูไน ในสินค้าข้าวและน้ำตาล ต้องผ่านการเจรจาระดับรัฐต่อรัฐ และผู้ส่งออกต้องได้รับใบอนุญาตนำเข้าเป็นกรณีพิเศษ

 

ส่าวนกัมพูชานั้น สินค้าและบริการต้องได้รับความเห็นชอบการนำเข้าสินค้าเกษตรจากกรม CAMCONTROL กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา และกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อาหาร ฉลากต้องระบุข้อมูลรายละเอียดผู้ผลิต วัน เดือน ปีที่ผลิตและวันหมดอายุ ส่วนผสม การใช้งาน บริโภค ต้องเป็นภาษาเขมรหากนำเข้าไปเพื่อการบริโภค ส่วนเมียนมาร์ สินค้าทุกชนิดต้องขอหนังสืออนุญาตนำเข้า สินค้าอุปโภคบริโภค ห้ามนำเข้า 8 รายการจากไทย (สุรา เบียร์ บุหรี่ หมากฝรั่ง เค้ก เวเฟอร์ ช็อกโกแลต และสินค้าควบคุมนำเข้าตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่แล้ว)