FINANCE & INVESTMENT

ทูตพาณิชย์แนะบุกตลาดแอฟริกา แหล่งทรัพยากรชั้นเยี่ยม เปิดตลาดคู่ค้าเอเชีย
POSTED ON 17/01/2557


 

รายงานโดย นายจักรินทร์ โกมลศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย แอฟริกาใต้

 

ข่าวการเงินการลงทุน - ผู้เขียนในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย (ทูตพาณิชย์) ซึ่งดูแล 12 ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ มักจะได้รับคำถามจากผู้ประกอบการไทยเกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นในภูมิภาคแอฟริกา เช่น ถนนหนทาง และการสื่อสารโทรศัพท์ หรือแม้แต่ระบบอินเทอร์เน็ต มีสิ่งเหล่านี้แล้วหรือไม่ รวมถึงกำลังการซื้อสินค้าไทยของตลาดแอฟริกา มีหรือไม่ คำถามเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจ และไม่รู้จักกับภูมิภาคนี้

 

เพราะเมื่อพูดถึงแอฟริกาจะเกิดภาพแห่งความอดอยาก ยากจน และความด้อยพัฒนาขึ้น ดังนั้น ในบทความนี้ อยากจะเขียนให้ผู้ประกอบการไทยรู้จักกับภูมิภาคแอฟริกามากขึ้นกว่าเดิม โดยชี้ข้อมูลสำคัญ 7 ประการให้เห็น

 

1.เศรษฐกิจของแอฟริกามีความเจริญเติบโตที่รวดเร็ว ในขณะที่สภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าดั้งเดิมไทย เช่น สหรัฐอเมริกาหรือยุโรปส่ออาการวิกฤตหรือถดถอย เศรษฐกิจภูมิภาคแอฟริกากลับเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง แอฟริกาคือภูมิภาคที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว จากปี 2002-2008 แอฟริกาเป็นภูมิภาคที่มีการเจริญเติบโตเป็นอันดับที่ 2 รองจากทวีปเอเชียเท่านั้น โดยเฉลี่ยทั้งทวีปแอฟริกามีการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 4.9

 

นอกจากนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์ว่า จาก 10 ประเทศที่มีการเจริญเติบโตเร็วที่สุดในโลก 7 ประเทศนั้นอยู่ในแอฟริกา ได้แก่ เอธิโอเปีย โมซัมบิก แทนซาเนีย คองโก กานา แซมเบีย และไนจีเรีย ซึ่งทั้งภูมิภาคในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมกันถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

 

2.เศรษฐกิจของภูมิภาคแอฟริกาจะมีผู้บริโภคมากกว่าทุกภูมิภาค ดังนั้น แอฟริกาจึงถือเป็นตลาดที่สำคัญของสินค้า และการบริการของไทยในอนาคต ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของ Mckinsey Global Institute ว่า ภายในปี 2040 จำนวนประชากรวัยทำงาน 1 ใน 5 (ช่วงอายุ 15-46 ปี) ของโลกจะอยู่ในทวีปนี้ และกว่าร้อยละ 40 จะเป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในตัวเมือง ซึ่งกลุ่มประชากรเหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่มีรายได้มากขึ้น มีกำลังซื้อมากขึ้น และจะเป็นผู้บริโภคสินค้าและบริการของไทย โดยผลการศึกษายังคาดการณ์ว่า ภายใน 10 ปีข้างหน้า จำนวนครัวเรือนในภูมิภาคนี้จะมีรายได้เหลือกินเหลือใช้ (Discretionary Income) เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50

 

3.แอฟริกาหันมาทำการค้ากับเอเชียมากขึ้น ในอดีตแอฟริกาทำการค้ากับทวีปยุโรปเป็นส่วนใหญ่ ในฐานะอดีตเจ้าประเทศอาณานิคมในปัจจุบัน ทวีปแอฟริกาทำการค้ากับประเทศในเอเชียมากขึ้น เช่น ในปี 2008 สัดส่วนร้อยละ 28 ของการค้าของทวีปแอฟริกามีกับทวีปในเอเชีย การส่งออกของไทยไปยังแอฟริกาในปี 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ในขณะที่ภูมิภาคอื่น ส่อเค้าถดถอยอย่างเห็นได้ชัด

 

สำหรับการค้าระหว่างไทยกับประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา ไทยได้เพิ่มความสำคัญขึ้นมาอย่างมาก กล่าวคือในปี 2010 ประเทศไทยเป็นคู่ค้าในอันดับที่ 13 ของประเทศแอฟริกาใต้ ในปี 2011 ประเทศไทยได้ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 12 และล่าสุดในปี 2012 ไทยเป็นอันดับที่ 10 ซึ่งแอฟริกาใต้นำเข้าสินค้า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ไทยเป็นอันดับที่หนึ่ง โดยนำหน้าประเทศมาเลเซีย ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 19 เป็นต้น

 

4.แอฟริกามีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก เช่น ทองคำ ทองคำขาว ทองแดง อัญมณี ป่าไม้ ประมง ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน ล้วนเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในแอฟริกา จึงเป็นสาเหตุสำคัญของการเจริญเติบโตของแอฟริกาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ ทวีปแอฟริกายังมีที่ดินเพาะปลูกที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง ซึ่งเป็นที่คาดว่า ร้อยละ 60 ของพื้นที่สามารถเพาะปลูกอยู่ในทวีปแอฟริกา หากไทยสามารถนำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเกษตรเชิงพาณิชย์ หรือเกษตรอุตสาหกรรมมาผนวกรวมกับทรัพยากรด้านที่ดินเพาะปลูกของแอฟริกา จะส่งผลให้สามารถเพิ่มผลผลิตการเกษตร ดังนั้น ไทยจะสามารถเป็นหุ้นส่วนกับแอฟริกาในการผลิตสินค้าอาหารได้อย่างมากมาย

 

5.แอฟริกายังไม่สามารถผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการ ทวีปแอฟริกาจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากภายนอก เพราะไม่สามารถผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอ ซึ่งจากการศึกษาของ Mckinsey Global Institute คาดว่า ภายในปี 2020 ตลาดแอฟริกาจะมีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค มีมูลค่ากว่า 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม คืออุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมการบริการ อุตสาหกรรมทรัพยากรธรรมชาติ และการเกษตรการก่อสร้าง ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะส่งออกสินค้าสู่ตลาดแอฟริกา

 

6.ประเทศคู่แข่งอื่นได้เข้ามาสู่ตลาดแอฟริกาแล้ว แอฟริกาอาจจะเป็นตลาดใหม่ของผู้ประกอบการไทย แต่ประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย เช่น จีน เวียดนาม สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เป็นต้น ต่างได้เข้าสู่ตลาดแอฟริกาแล้ว ดังนั้น หากไทยยังลังเลที่จะเข้าสู่ตลาดแอฟริกา อาจทำให้เสียเปรียบต่อเพื่อนบ้านของเราในเอเชีย

 

7.แอฟริกามีเสถียรภาพทางการเมืองเพิ่มขึ้น สถิติชี้ให้เห็นว่า แอฟริกามีจำนวนการปฏิวัติรัฐประหารลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา อีกทั้งประเทศส่วนใหญ่ในแอฟริกานั้นเป็นเศรษฐกิจที่ใช้ระบบตลาดเสรี ส่งผลให้ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในแอฟริกามากขึ้น