FINANCE & INVESTMENT

สศค.จับตากลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หลังจากเกิดการตีกลับของเงินทุนเคลื่อนย้าย
POSTED ON 20/01/2557


 

ข่าวการเงินการลงทุน - รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สศค.ได้ติดตามสถานการณ์กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มประเทศดังกล่าว เริ่มแสดงถึงความอ่อนไหวหลังจากเกิดการตีกลับของเงินทุนเคลื่อนย้าย ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนและตลาดเงินแต่การส่งออกกลับไม่ได้ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งกระทบต่อเสถียรภาพและภาคเศรษฐกิจจริงซึ่งถือเป็นสภาวะที่มีความสำคัญต่อทิศทางเศรษฐกิจปี 2557

 

เศรษฐกิจโลกปี 2557 ภาพรวมถือเป็นปีของการฟื้นตัว โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะสามารถเติบโตจากปีที่ผ่านมาสาเหตุหลักมาจากการฟื้นตัวของประเทศ ขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นเนื่องจากความเสี่ยงที่เคยคุกคามเศรษฐกิจในปี 2556 กลับลดลงอย่างมาก ทั้งความเสี่ยงของการแตกสลายของกลุ่มยูโรโซนการหยุดการดำเนินงานของรัฐบาลสหรัฐที่ชะลอลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนายังเติบโตได้ยากเนื่องจากยังมีภาระทางการคลังขนาดใหญ่และการสูญเสียระดับผลิตภาพทางปัจจัยทุนและแรงงานไปในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ

 

สำหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทย ในปี 2557คาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นจากปีที่ผ่านมาเนื่องจากได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามการจ้างงาน และเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ขยายตัวเร่งขึ้นจากนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยสินค้าที่ยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และสินค้าเกษตร โดยเฉพาะไก่และกุ้งตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาอุปทานขาดแคลนในสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะคลี่คลายลง ซึ่ง สศค.ประเมินว่าการส่งออกสินค้าและบริการปี 2557 จะขยายตัวที่ 7%

 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทางการเมืองที่ยืดเยื้อยังคงเป็นปัจจัยกดดันโอกาสการฟื้นตัวต่อเศรษฐกิจไทยที่อาจทำให้ทิศทางราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นและมีผลกดดันการใช้จ่ายของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นแรงผลักดันให้เงินเฟ้อในปี 2557 จะมีโอกาสขยับสูงขึ้นกว่าระดับในปี 2556 โดย สศค. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2557 จะอยู่ที่ 2.4% ซึ่งคาดการณ์จากปัจจัยต่างๆ ทั้งการอ่อนค่าของเงินบาท, การปรับราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือนและภาคขนส่งเพิ่มขึ้นเดือนละ 50 สตางค์, การปรับค่าไฟฟ้า เอฟที และผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. มาอยู่ที่ระดับ 2.25 อีกด้วย