FINANCE & INVESTMENT

บีโอไอ มั่นใจนโยบายคลัสเตอร์จูงใจกลุ่มอุตฯอิเล็กฯลงทุนในไทยเพิ่ม
POSTED ON 17/02/2559


การเงินการลงทุน 17 ก.พ.2559 - น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงแนวโน้มการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2559 ว่า บริษัทชั้นนำของโลกหลายรายมีแผนจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งการขยายการลงทุนของบริษัทที่มีฐานการผลิตในไทย และโครงการลงทุนของนักลงทุนรายใหม่ โดยเป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่และนโยบายส่งเสริมคลัสเตอร์ที่มุ่งเน้นสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สร้างนวัตกรรม และเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

 

ในปีที่ผ่านมา บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 319 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 116,885 ล้านบาท เป็นกิจการที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล ได้แก่ กิจการซอฟต์แวร์ 173 โครงการ เงินลงทุนรวม 1,367 ล้านบาท กิจการผลิตอุปกรณ์รับส่งสัญญาณโทรคมนาคม (Telecom ) 8 โครงการ ลงทุน 17,017 ล้านบาท และกิจการ Cloud Service 2 โครงการ ลงทุน 520 ล้านบาท เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญสำหรับการผลิตสมาร์ทโฟน โดยบริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มกิจการนี้ ได้แก่

 

บริษัท เอ็นเอ็มบี-มินีแบ ไทย จำกัด ผลิต Lighting Device, Lighting Device Parts ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประกอบจอแอลซีดีสำหรับจอภาพโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เงินลงทุน 3,960 ล้านบาท

 

บริษัท ฟูจิคูระ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้รับการส่งเสริมในกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ Flexible Printed Circuit Board Assembly (FPCA) หรือแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชนิดอ่อน เพื่อใช้สำหรับอุปกรณ์สื่อสาร เช่น แผ่นวงจรสำหรับควบคุมการสั่น (Vibration) การแสดงผลหน้าจอหรือการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอก สำหรับ แทบเล็ต สมาร์ทโฟน สมาร์ทวอช เป็นต้น เงินลงทุน 2,972 ล้านบาท

 

บริษัท โซนี่ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน เงินลงทุน 2,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นการย้ายฐานการผลิตมายังต่างประเทศครั้งแรกของโซนี่

 

บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็กทริค คอนซูมเมอร์โพรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยเป็นโครงการผลิตเครื่องปรับอากาศ เงินลงทุน 10,700 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ บีโอไอมุ่งเน้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลงทุนเพิ่มด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ จากเดิมที่เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตสินค้า ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีบริษัทของคนไทยที่บีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุน ด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้แก่ บริษัท ซิลิคอน คราฟ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งแม้จะเป็นบริษัทขนาดเล็ก เงินลงทุน 20 ล้านบาท แต่เป็นบริษัทที่คิดค้นนวัตกรรมเอง นั่นก็คือ การออกแบบชิพค้นหาตำแหน่งที่ฝังในตัวสัตว์ เพื่อนับจำนวนและตรวจติดตามการเจริญเติบโต โดยมีฐานลูกค้าอยู่ในประเทศโซนยุโรป

 

ขณะที่ทางด้าน นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลการเข้าพบ นายยิม แซง-มู รองประธานอาวุโส บริษัท ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด ที่พิพิธภัณฑ์นวัตกรรมซัมซุง ภายในบริษัท ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ชี้แจงถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ทั้งการกำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 9 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่เป็นการต่อยอดจากอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนในไทย โดยซัมซุงเป็นนักลงทุนเป้าหมายของไทยในคลัสเตอร์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จึงได้เชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติม แต่ทางผู้บริหารของซัมซุงยังไม่ตอบรับใดๆ และขอพิจารณารายละเอียดก่อน

 

ที่ผ่านมา แม้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างซัมซุงได้ย้ายสายการผลิตโทรทัศน์จากไทยไปเวียดนาม แต่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยไม่มากนัก เพราะไทยไม่มีโรงงานผลิตจอภาพ (คิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของมูลค่าโทรทัศน์ทั้งหมด) งานส่วนใหญ่ที่ทำในไทยมีเพียงการประกอบชิ้นส่วน ซึ่งได้มูลค่าเพิ่มภายในประเทศค่อนข้างน้อย และใช้แรงงานมาก จึงย้ายฐานไปเวียดนาม ซึ่งนำเข้าจอภาพจากจีนได้สะดวกกว่า และแรงงานราคาถูก

 

อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงมีความแข็งแกร่งในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องทำความเย็น เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน เป็นต้น เพราะไทยเป็นฐานการผลิตคอมเพรสเซอร์ในเครื่องทำความเย็น และมอเตอร์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ผู้ประกอบการจึงไม่ย้ายฐานออกจากไทย โดยในกลุ่มสินค้านี้มีมูลค่าการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ 40% ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าโทรทัศน์มาก

 

"นอกจากการเชิญชวนนักลงทุนรายใหญ่ ให้เข้ามาลงทุนแล้ว รัฐบาลควรสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ผลิตกล่องควบคุมอัจฉริยะ ที่ใช้ควบคุมการทำงานในเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งใช้เงินลงทุนไม่มาก เพียงแต่ต้องการผู้ประกอบการที่มีวิสัยทัศน์ มีความตั้งใจจริง และทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเสริม ก็สามารถผลิตนวัตกรรมด้านนี้ได้ไม่ยาก หากทำได้จะช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ได้มาก" นางอรรชกา กล่าว

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics