FINANCE & INVESTMENT

บีโอไอ เซ็นร่วมมือเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับเมืองฮามามัตสึ ญี่ปุ่น
POSTED ON 20/10/2558


 

การเงินการลงทุน - นสพ.สยามรัฐ รายงานข่าวในวันนี้ (20 ต.ค.2558) ว่า นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และ นายยาสุโตโมะ ซูซูกิ นายกเทศมนตรี เมืองฮามามัตสึ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานได้ลงนามบันทึกความเข้าใจที่จะร่วมมือกันส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนแก่ทั้ง 2 ฝ่าย

 

โดยในส่วนของรัฐบาลไทยจะใช้โอกาสนี้เชิญชวนให้นักลงทุนญี่ปุ่นพิจารณาโอกาสธุรกิจใหม่ๆ ในประเทศไทย และเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระดับเศรษฐกิจที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีนี้ประเทศไทยได้ปรับระบบเศรษฐกิจจากการพึ่งพาอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก เน้นผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก มาสู่การผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม

 

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษลักษณะกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมให้เป็นเขตอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ โดยมีกลุ่มคลัสเตอร์ที่สำคัญ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วนไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศให้ทันกับโอกาสทางธุรกิจที่จะมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปลายปี 2558 ควบคู่ไปกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับการยกระดับทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

ด้าน นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า เมืองฮามามัตสึ เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นและมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลและบีโอไอจำนวนมาก เช่น ยานยนต์ เครื่องจักร และชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยปัจจุบันมีนักลงทุนจากเมืองฮามามัตสึที่เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว 66 บริษัท ทั้งนี้ การลงนามเอ็มโอยูครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ของ 2 หน่วยงานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมถึงจะส่งเสริมความร่วมมือของ 2 หน่วยงานผ่านการจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการลงทุน และการสนับสนุนกิจกรรมทางธุรกิจ การลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในเมืองไทยและบริษัทไทยที่ไปลงทุนในเมืองฮามามัตสึในอนาคต

 

ทั้งนี้ นักลงทุนจากญี่ปุ่นยังมีโอกาสขยายการลงทุนในประเทศไทยอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดเออีซีจะทำให้เกิดตลาดขนาดใหญ่และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ขณะนี้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน หรือผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องจักรซึ่งเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงของไทย เพื่อยกระดับการผลิตของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดต่างๆ ที่ใช้เป็นชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์อีกหลายประเภท

 

สำหรับญี่ปุ่นเป็นกลุ่มที่เข้ามาลงทุนสูงสุดในเมืองไทยติดต่อกันมากว่า 20 ปี โดยในปี 2557 สัดส่วนการลงทุนจากญี่ปุ่นคิดเป็น 35% ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด โดยลงทุนในสาขายานยนต์และชิ้นส่วนเป็นอันดับ 1 ตามด้วยเครื่องจักรและชิ้นส่วนโลหะ และไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics