FINANCE & INVESTMENT

ฝรั่งเศส-เยอรมัน สนตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในไทย
POSTED ON 06/10/2558


การเงินการลงทุน - นสพ.โพสต์ทูเดย์ รายงานข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2558 ที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยจาก 3 ประเทศ คือ อิตาลี ฝรั่งเศส และเยอรมนี ได้เข้าพบ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม โดยยืนยันว่าทางฝรั่งเศสและเยอรมนีสนใจเข้ามาตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศไทย รวมทั้งจะให้ความช่วยเหลือและร่วมลงทุนระบบรางในประเทศไทยด้วย ขณะที่อิตาลีต้องการให้บริษัท การบินไทย ยังคงเส้นทางบินกรุงเทพฯ-โรมต่อไป จากที่มีกำหนดว่าจะยกเลิกเส้นทางบินดังกล่าวในเดือน ก.พ.2559

 

"ฝรั่งเศสสนใจเข้ามาตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างสายการบินแอร์ฟรานซ์และการบินไทย และพร้อมให้ความช่วยเหลือเรื่องของเทคโนโลยีระบบรางในไทย รวมถึงรถไฟความเร็วสูง ส่วนเยอรมนีสนใจเข้ามาลงทุนระบบราง อีกทั้งต้องการให้การบินไทยร่วมมือกับสายการบินลูฟต์ ฮันซา ตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานในไทยเช่นกัน โดยหวังจะใช้ไทยเป็นฐานการซ่อมในเอเชีย เพราะต่างมองว่าไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคที่จะเชื่อมกับยุโรป" นายอาคม กล่าว

 

สำหรับความคืบหน้าโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ขณะนี้ญี่ปุ่นได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาสำรวจเส้นทางรถไฟภายใต้ความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 ประเทศ คือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กาญจนบุรี-แหลมฉบัง-สระแก้ว และ แม่สอด-มุกดาหาร โดยเส้นทางที่จะดำเนินการได้ก่อน คือ เส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร ซึ่งฝ่ายไทยให้ข้อมูลผลการศึกษาเบื้องต้นกับญี่ปุ่นแล้ว ทั้งผลศึกษาช่วงแม่สอด-พิษณุโลก และช่วงขอนแก่น-มุกดาหาร โดยโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่นจะได้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมว่าจะร่วมทุนกันอย่างไร และกู้เงินแบบใด โดยจะต้องแล้วเสร็จกลางปี 2559

 

ด้าน นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า "กระทรวงฯมีนโยบายส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนระบบราง ชิ้นส่วนอากาศยาน และชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน เพราะจากการหารือกับผู้ผลิตอากาศยานต่างประเทศพบว่าผู้ผลิตสนใจลงทุนเข้ามาลงทุนผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในเอเชียเพิ่ม เนื่องจากมีโอกาสเติบโตสูง"

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics