FINANCE & INVESTMENT

อุตฯเร่งเครื่องดันไทยร่วมมาเลย์-อินโดฯ ลุยตลาดอาหารฮาลาล
POSTED ON 18/12/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "เศรษฐกิจโลกกับโอกาสสินค้าฮาลาลไทย" ว่า ปัจจุบันมีผู้บริโภคชาวมุสลิมทั่วโลกประมาณ 2,000 ล้านคน มีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรมุสลิมเฉลี่ย 1.84% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนวัยรุ่นและวัยทำงานที่มีความต้องการบริโภคสูง คิดเป็นสัดส่วน 28.26% ของประชากรโลกที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.14% มี 7.15 พันล้านคน สะท้อนแนวโน้มที่ตลาดอาหารฮาลาลโลกจะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 6.9% เป็นแรงผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเติบโต ช่วยเพิ่มโอกาสของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยจะบุกตลาดโลกที่มีมูลค่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐได้มากขึ้น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16.6% ของมูลค่าตลาดอาหารโลก

 

นายปราโมทย์ เผยว่า "กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมที่จะประสานความร่วมมือกับประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียในการทำตลาดฮาลาลร่วมกัน โดยประสานจุดแข็งด้านการเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของไทย กับความเชี่ยวชาญด้านมาตรฐานอาหารฮาลาลของมาเลเซียและอินโดนีเซียในการใช้มาตรฐานร่วมกัน ซึ่งจะสร้างประโยชน์มากกว่าการเดินหน้าทำเพียงประเทศเดียว"

 

ทั้งนี้ ตลาดอาหารในปัจจุบันมีความต้องการอาหารปลอดภัย คุณภาพสูง อาหารเพื่อสุขภาพ ฟังก์ชันนัลฟู้ดส์ อาหารอินทรีย์ จึงมีแนวโน้มขยายตัวดี โดยเฉพาะในประเทศที่ประชากรมีรายได้สูง รวมทั้งอัตราการขยายตัวของธุรกิจ E-Commerce ช่วยขยายช่องทางเข้าถึงสินค้าให้สะดวกและรวดเร็ว ไร้พรมแดน ทำให้โอกาสตลาดอาหารฮาลาลเปิดกว้างอีกมาก เห็นได้จากข้อมูลจำนวนชาวมุสลิมส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเอเชีย รองลงมาคือแอฟริกา ในยุโรปมีประชากรนับถือศาสนาอิสลามอยู่เพียง 56.18 ล้านคน อเมริกาเหนือ 8 ล้านคน และอื่นๆ 3.84 ล้านคน โดยประเทศที่มีสัดส่วนประชากรมุสลิมมากกว่า 90% ในแอฟริกา เช่น อัลจีเรีย โมร็อกโก ตูนิเซีย และอียิปต์ ในเอเชีย เช่น ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน อิหร่าน อิรัก โอมาน

 

ช่วง 5 ปีจากนี้มูลค่าการค้าจะมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยถึงปีละ 6.9% ทำให้ในปี 2561 มูลค่าตลาดอาหารฮาลาลโลกจะสูงถึง 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หากพิจารณาด้านการค้าอาหารระหว่างประเทศของสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ปัจจุบันมี 57 ประเทศ จะพบว่า มีมูลค่าการนำเข้าอาหารในปี 2556 อยู่ที่ 1.56 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 8 ประเทศหลักมีมูลค่านำเข้าเป็นสัดส่วนถึง 56.7% ของมูลค่าทั้งหมด โดยประเทศสมาชิก OIC ผู้นำเข้าอาหารที่สำคัญ อันดับแรกคือ ซาอุดีอาระเบีย รองลงมาคือ มาเลเซีย อียิปต์ อินโดนีเซีย อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 

เมื่อพิจารณาส่วนแบ่งตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไทยส่งออกไปประเทศเหล่านี้ พบว่า ยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย จึงนับว่ายังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก หากเราศึกษาความต้องการของตลาด และเริ่มบุกตลาดอย่างจริงจัง

 

ด้าน นายปณิธาน จินดาภู รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับ 10 ของโลก มีส่วนแบ่งตลาด 2.44% เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีส่วนแบ่งตลาด 2.26% ซึ่งตลาดอาหารฮาลาลโลกเป็นตลาดใหญ่และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จึงเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมอาหารไทย โดยอาหารฮาลาลส่งออกที่มีศักยภาพ เช่น อาหารพร้อมปรุงและพร้อมรับประทาน ทั้งแบบแช่แข็ง แปรรูป และบรรจุกระป๋อง เช่น อาหารทะเลแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว ผลไม้สดและแปรรูป รวมทั้งอาหารพร้อมรับประทานแบบตะวันตก เช่น ขนมปัง พาสต้าและสปาเกตตี เครื่องดื่มต่างๆ

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ, เดลินิวส์