FINANCE & INVESTMENT

กนอ.เร่งพัฒนานิคมฯ หวังดึงนักลงทุนเพิ่มปีหน้า
POSTED ON 16/12/2557


การเงินการลงทุน - ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังงานพิธีสถาปนา ครบรอบ 42 ปี กนอ. ว่า ปี 2558 กนอ.ได้กำหนดแผนดำเนินงานที่จะสอดรับกับนโยบายรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการยกระดับสินค้าภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจให้ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่ยั่งยืน เพื่อให้ไทยพร้อมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558

 

สำหรับยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ กนอ. ปี 2558 ในด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจของรัฐบาลที่สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ และของกระทรวงอุตสาหกรรมนำมาผนวกกันเพื่อเป็นยุทธศาสตร์ของ กนอ. โดยแผนงานสำคัญ ได้แก่ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก, ตราด, สระแก้ว, สงขลา และมุกดาหาร

 

ส่วนโครงการพัฒนาพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเมืองยาง (Rubber City) จะใช้พื้นที่เฟส 3 จำนวน 755 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 2,247 ไร่ ของพื้นที่นิคมฯ ภาคใต้ จังหวัดสงขลา โดยขณะนี้มีความคืบหน้าอยู่ระหว่างการศึกษาการออกแบบการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนเมษายน 2558 และกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายจะรองรับอุตสาหกรรมยางพารา เช่น ถุงมือยาง ล้อยาง ยางล้อเครื่องบิน ฯลฯ เพื่อต่อยอดให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ในท้องตลาดให้สูงขึ้น คาดว่าจะก่อสร้างเดือนตุลาคม 2558 จะเสร็จในปี 2560 หากดำเนินการจัดตั้งนิคมฯ แล้วเสร็จจะช่วยกระตุ้นให้กลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราและที่เกี่ยวข้องมีการขยายตัวเติบโตเพิ่มมากขึ้น

 

โดยโครงการพัฒนาจัดหาพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานและศูนย์ซ่อมอากาศยาน ในเบื้องต้น กนอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างศึกษาพื้นที่ในการจัดตั้งนิคมฯ ท่าอากาศยาน นครราชสีมา นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่อื่นเพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้เพิ่มเติม สำหรับพื้นที่นี้จะใช้รองรับอุตสาหกรรมอากาศยานในการให้บริการด้านการซ่อมบำรุงเครื่องบินของสายการบินทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันจะใช้เป็นศูนย์กลางซ่อมบำรุงแบบครบวงจร ที่มีความพร้อมในเรื่องการสนับสนุนทั้งชิ้นส่วนและอะไหล่เครื่องบิน ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของสายการบิน อันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับประเทศไทย

 

สำหรับโครงการการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมของเสียครบวงจร ล่าสุด กนอ.เตรียมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ในการจัดตั้งนิคมฯ ดังกล่าว ระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และกรมการอุตสาหกรรมทหาร เพื่อดำเนินการขอใช้พื้นที่ทหาร ประมาณ 10,000 ไร่ขึ้นไป โดยอยู่ระหว่างประสานขอใช้พื้นที่ว่าจะใช้พื้นที่ในจังหวัดใด เนื่องจากพื้นที่ทหารเป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ สะดวกต่อการบริหารจัดการ และคาดว่าพื้นที่นิคมฯ จะสามารถกำจัดกากอุตสาหกรรมได้อย่างสมบูรณ์แบบ มีทั้งพื้นที่ฝังกลบ มีเตาเผาทั้งกากขยะทั่วไปและกากพิษอันตราย ซึ่งแต่ละปีมีกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายมากถึง 3 ล้านตัน ครอบคลุมพื้นที่ 16 จังหวัด เพื่อรองรับการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

 

นอกจากนี้ กนอ. ยังได้วางเป้าหมายในการดำเนินงานด้าน CSR ภายใต้ยุทธศาสตร์ 4 ด้านต่อเนื่อง ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ด้านสังคม ด้านสุขภาพ และด้านเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งจะทำการต่อยอดกิจกรรมที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสร้างความพึงพอใจของชุมชนโดยรอบนิคมฯ ทั้งนิคมฯ เดิม และชุมชนที่อยู่ในพื้นที่รอบนิคมฯ ที่จะจัดตั้ง นิคมฯ ใหม่ และการเสริมสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรด้าน CSR โดยมีกลยุทธ์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร คือ C-S-R : Care-Share-Raise อยู่ภายใต้โครงการ "IEAT for Life"

 

การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมุ่งสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ภายใต้วิสัยทัศน์ "เป็นองค์กรนำสร้างเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่มีดุลยภาพและยั่งยืน" ต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายพัฒนาทุกนิคมฯ ทั่วประเทศ ในกรอบของข้อกำหนดคุณลักษณะ 5 มิติ 22 ด้าน ภายในปี 2562 ซึ่งปัจจุบันได้จัดทำแนวทาง และเกณฑ์การพัฒนา ไว้ 3 ระดับ คือ (1) ระดับ Champion (2) ระดับ Eco-Excellency และ (3) ระดับ Eco-World Class โดยในปี 2557 มีนิคมฯ ที่ผ่านเกณฑ์การพัฒนาในระดับ Champion จำนวน 14 นิคมฯ ได้แก่ นิคมฯ บางชัน นิคมฯ ภาคเหนือ (ลำพูน) นิคมฯ แหลมฉบัง นิคมฯ สมุทรสาคร นิคมฯ หนองแค นิคมฯ อมตะชิตี้ นิคมฯ บางปู นิคมฯ อีสเทิร์นซีบอร์ด นิคมฯ อมตะนคร นิคมฯ ลาดกระบัง นิคมฯ บางพลี นิคมฯ บางปะอิน นิคมฯ มาบตาพุด และนิคมฯ อาร์ไอแอล ซึ่งนิคมฯ เหล่านี้จะต้องดำเนินงานเป็น Eco ต่อเนื่องด้วยหลักบริหารจัดการเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมั่นใจว่าทุกนิคมฯ จะสามารถพัฒนาและยกระดับเข้าสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศได้ครบตามเป้าหมายต่อไป

 

ที่มา : บ้านเมือง