FINANCE & INVESTMENT

TRT โชว์ Backlog ทะลุ 3,300 ล้านบาท
POSTED ON 03/12/2556


 

ถิรไทย หรือ TRT ผู้นำตลาดผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าของไทย โชว์ผลงานเด่นช่วง ปิดเดือน 10 รับคำสั่งซื้อเข้ากระเป๋าทะลุ 1,966 ล้านบาท ผู้บริหาร TRT เผยเพราะเศรษฐกิจ และการลงทุนมีการขยายตัวอย่างชัดเจนทั้งภูมิภาค ASEAN คาดรายได้ปี 56 เพิ่มขึ้นมากกว่า 40% เนื่องจากคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ของทุกผลิตภัณฑ์ขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะหม้อแปลงขนาด Power หลังกวาด Backlog แล้วกว่า 3,304 ล้านบาท พร้อมย้ำภาพรวมการลงทุนยังดี การเมืองไม่กระทบ เตรียมกระโดดเข้าประมูลงานต่อเนื่องอีกในวงเงิน 5,700 ล้านบาท คาดกวาดรายได้ 20-25%

 

นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT ผู้ผลิต จำหน่ายและซ่อมบำรุง หม้อแปลงไฟฟ้าทุกขนาดของคนไทยเพียงแห่งเดียว เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา บริษัทได้รับคำสั่งซื้อ และมีการทำสัญญาจากลูกค้าเป็นจำนวนมากด้วยมูลค่ารวมกว่า 1,966 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงานทั้งในส่วนของภาครัฐ และเอกชน รวมถึงส่งออกไปยังต่างประเทศ

 

ซึ่งในส่วนของงานภาครัฐ บริษัทได้ทำสัญญาในการสั่งซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายจาก (กฟน.) การไฟฟ้านครหลวง มูลค่า 368 ล้านบาท และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 272 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับคำสั่งซื้อจากบริษัทเอกชนในประเทศอีกกว่า 817 ล้านบาท และส่งออกอีก 353 ล้านบาท และบริษัทฯ ในเครืออีกกว่า 250 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของภาคเอกชน และส่งออกได้มีคำสั่งซื้อในการผลิตหม้อแปลง Power มากขึ้น

 

ทั้งนี้คาดว่าผลประกอบการในปี 2556 จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจและการลงทุนมีการขยายตัวอย่างชัดเจนทั้งภูมิภาค ASEAN คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 40% เนื่องจากคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ของทุกผลิตภัณฑ์ขยายตัวมากขึ้น ปัจจุบันบริษัทฯ มีงานในมือคำสั่งซื้อ และรายได้ค้างรับ (Delivery & Backlog Orders As of October 2013) มูลค่า 3,304 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐการไฟฟ้านครหลวง 503 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 289 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตสั่งผลิตหม้อแปลง Power อีก 268 ล้านบาท ภาคเอกชนในประเทศ 1,391 ล้านบาท และส่งออก 473 ล้านบาท และอื่นๆ ของบริษัทย่อย 380 ล้านบาท 

 

นายสัมพันธ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับงานที่มีโครงการจะเปิดประมูลอย่างต่อเนื่อง ในช่วง Q3-Q4 มีมูลค่ากว่า 5,700 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค วงเงิน 2,500 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิต 100 ล้านบาท และการไฟฟ้านครหลวง 400 ล้านบาท และในส่วนของภาคเอกชนภายในประเทศอีก 1,400 ล้านบาท และส่งออกประมาณ 600 ล้านบาท และงานประมูลของบริษัทย่อย 700 ล้านบาท บริษัทฯคาดว่าจะสามารถชนะการประมูลงานได้มากกว่า 20-25% ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) จะยังคงรักษาระดับให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 20-25 % ควบคู่กับการรักษาสัดส่วนตลาดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และมาตรการในด้านอื่นๆ เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ตามแผนธุรกิจของบริษัท