FINANCE & INVESTMENT

"เนเจอร์เวิร์ค" เดินหน้าลงทุนโรงงาน PLA ในไทย
POSTED ON 29/08/2557


การเงินการลงทุน - พีทีทีจีซี เผย ทุนสหรัฐฯ เนเจอร์เวิร์ค ตัดสินใจลงทุนโรงงานพีแอลเอขนาด 7.5 หมื่นตันต่อปี มูลค่าไม่น้อยกว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในประเทศไทยแล้ว รอสรุปพื้นที่ตั้งโรงงานระหว่างนิคมฯ เอเชียกับตั้งใกล้โรงงานน้ำตาลในภาคอีสาน หลังหารือกลุ่มน้ำตาลมิตรผลและกลุ่มเกษตรไทยแล้ว ด้านเนเจอร์เวิร์ค ลุยพบ คสช.ขอความมั่นใจนโยบายการส่งเสริมเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2% แข่งกับมาเลเซีย คาดแผนลงทุนชัดเจนปลายปีนี้

 

นายอัฒฑวุฒิ หิรัญบูรณะ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid หรือ PLA เฟสแรก ขนาด 7.5 หมื่นตันต่อปี มูลค่าลงทุนไม่ต่ำกว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ว่า ล่าสุดบริษัท NatureWorks ของสหรัฐฯ ในฐานะผู้ร่วมทุนตัดสินใจที่จะก่อสร้างโรงงานดังกล่าวในประเทศไทยแล้ว โดยขณะนี้ยังรอเพียงผลสรุปด้านพื้นที่ก่อสร้างโรงงานและมาตรการความช่วยเหลือจากทางภาครัฐ

 

โดยพื้นที่ก่อสร้างโรงงานพีแอลเอดังกล่าว ทางพีทีทีจีซีอยู่ระหว่างตัดสินใจในการเลือกพื้นที่ ซึ่งเบื้องต้นยังคงต้องการให้โรงงานนี้อยู่ในพื้นที่ใกล้แหล่งวัตถุดิบที่มีการปลูกอ้อย ดังนั้น อาจเป็นไปได้ที่จะตั้งอยู่ในพื้นที่โรงงานน้ำตาล ซึ่งที่ผ่านมาได้หารือกับทางโรงงานน้ำตาลมิตรและและโรงงานน้ำตาลเกษตรไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปบ้างแล้ว เนื่องจากต้องการประหยัดค่าขนส่งและมีวัตถุดิบรองรับกับความต้องการของโรงงานพีแอลเอ เพราะในอนาคตพีทีทีจีซีต้องการขยายเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) พลาสติกชีวภาพ หรือ ไบโอพลาสติก ในอนาคต ขณะที่อีกพื้นที่หนึ่งที่มองไว้จะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จังหวัดระยอง คาดว่าจะสรุปพื้นที่ตั้งได้ภายในช่วงปลายปีนี้

 

"โรงงานพีแอลเอลงทุนในไทยแน่นอน ซึ่งทางเนเจอร์เวิร์คก็ตอบตกลงแล้ว เพราะไทยเป็นประเทศที่มีวัตถุดิบจำนวนมาก แต่คงต้อรอข้อสรุปมาตรการการช่วยเหลือจากทางภาครัฐ และการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เบื้องต้นต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพราะต้องยอมรับว่าต้นทุนไบโอพลาสติกสูงกว่าเม็ดพลาสติกปกติเกือบเท่าตัว รวมถึงการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อย เป็นต้น" นายอัฒฑวุฒิ กล่าว

 

สำหรับโรงงานพีแอลเอดังกล่าว จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นการผลิตไบโอพลาสติกในไทย ซึ่งจะต่อยอดไปเป็นไบโอฮับในอนาคต นั่นหมายถึงการต่อยอดการผลิตสินค้าแบบครบวงจร สามารถป้อนไบโอพลาสติกไปทั่วเอเชียโดยมีไทยเป็นศูนย์กลาง เบื้องต้นหากโรงงานพีแอลเอแห่งนี้เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ กำลังการผลิตส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังลูกค้าในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน และอีกส่วนหนึ่งจะป้อนให้กับลูกค้าในประเทศ สาเหตุที่ต้องส่งออก เนื่องจากปัจจุบันความต้องการใช้ไบโอพลาสติกในไทยยังไม่มากนัก

 

ด้าน นายชวลิต ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจและบริหารโครงการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า มาตรการเร่งด่วนที่ขอให้ คสช. ช่วยสนับสนุนโครงการพลาสติกชีวภาพ ด้วยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ย 2% เพื่อสนับสนุนให้แข่งขันกับประเทศอื่นได้ ขณะที่มาเลเซียสนับสนุนเงินทุนให้เปล่ากับผู้ประกอบการและให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระยะยาว

 

ขณะที่ทางด้าน นายวิบูลย์ พึงประเสริฐ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เนเจอร์เวิร์ค เอเชียแปซิฟิค จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ จะตัดสินใจลงทุนโครงการไบโอชีวภาพในไทย หากได้รับการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากทางภาครัฐ ซึ่งเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เข้าพบ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศและรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อหารือมาตรการส่งเสริมโครงการดังกล่าว หากรัฐอนุมัติจะทำเรื่องเสนอให้คณะกรรมการบริษัทฯ ที่สหรัฐอเมริการับทราบความคืบหน้า ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำการพิจารณาการลงทุนโรงงานพีแอลเอวงเงินลงทุน 1.3 หมื่นล้านบาทในไทย ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะแบ่งเป็น 2 เฟส กำลังการผลิตเฟสแรกจะอยู่ที่ 7.5 หมื่นตันต่อปี คาดว่าสร้างเสร็จและผลิตได้ในปี 2560 ส่วนเฟสที่ 2 คาดว่าจะดำเนินการได้ใน 3-5 ปีหลังจากเฟสแรกเสร็จ เพื่อขยายกำลังการผลิตอีก 7.5 หมื่นตันต่อปี ใช้เงินลงทุนอีก 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

ปัจจุบันพีทีทีจีซีถือหุ้นในโรงงานพีแอลเอของเนเจอร์เวิร์คที่สหรัฐอเมริกาในสัดส่วน 50% ซึ่งโรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ในสหรัฐฯ มีกำลังการผลิต 1.4-1.5 แสนตันต่อปี โดยจะส่งออกไปยังลูกค้าทั่วโลก และที่ผ่านมาเนเจอร์เวิร์คมีแผนจะขยายโรงงานแห่งที่ 2 ดังนั้นพีทีทีจีซีในฐานะผู้ถือหุ้นได้เสนอให้ตั้งโรงงานในไทย เพราะมีวัตถุดิบจำนวนมาก รวมทั้งต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางไบโอฮับในเอเชียด้วย

 

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ