FINANCE & INVESTMENT

PTTGC ร่วมทุน PT Pertamina อินโดฯ ขยายตลาดโพลิเมอร์
POSTED ON 13/08/2557


 

ข่าวการเงินการลงทุน - นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTGC กล่าวถึง ความคืบหน้าการร่วมทุนระหว่าง PTTGC กับ PT Pertamina บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซียว่า ขณะนี้ ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ PT Indo Thai Trading (ITT) โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงจาร์กาต้า ประเทศอินโดนีเซียแล้ว

 

โดยจะมุ่งเน้นการขยายตลาดกลุ่มโพลิเมอร์ เพื่อตอบสนองความต้องการของชาวอินโดนีเซีย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ โพลิเอทิลีน (PE) โพลิโพรพีลีน (PP) และโมโนเอทิลีนไกลคอล (MEG) โดยระยะแรกจะนำสินค้าจาก PTTGC และจาก PT Pertamina ไปจัดจำหน่าย เพื่อสร้างฐานตลาดรองรับโครงการร่วมทุนสร้างปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ที่มีแผนจะสร้างที่เมืองบาลองกัน (Balongan) ตอนกลางของเกาะชวา ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษารายละเอียดโครงการโดยมีเป้าหมายแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการผลิตในปี 2020 (พ.ศ.2563)

 

การลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย ระยะแรกจะมุ่งผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศอินโดนีเซียเป็นหลักก่อน และการมีฐานผลิตในอินโดนีเซียยังเป็นโอกาสอันดีในการขยายธุรกิจสู่ตลาดประเทศอื่นๆ ในอาเซียนด้วย ปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมากถึงเกือบ 300 ล้านคน และมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีอัตราเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันยังต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจำนวนมาก การร่วมทุนตั้งปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ โดยมี ITT เป็นบริษัทเทรดดิ้ง จะสามารถช่วยลดการนำเข้าของประเทศอินโดนีเซียได้ประมาณ 2,400-3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของตลาดโพลิเมอร์ในอินโดนีเซียในปี 2025

 

ก่อนหน้านี้ PTTGC ได้ลงนาม MOU และลงนามร่วมทุน (Joint Venture) กับ PT Pertamina โดยมีสัดส่วนการร่วมทุน PTTGC 49% และ PT Pertamina 51% เพื่อจุดประสงค์ในการขยายตลาดกลุ่มสินค้าโพลิเมอร์ ในประเทศอินโดนีเซีย และลงทุนร่วมในโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่มีความครบวงจร และมีความสามารถในการแข่งขันจากกำลังการผลิตขนาดใหญ่ โดยมีโรงงานโอเลฟินส์ กำลังการผลิต 1 ล้านตันต่อปี เป็นหน่วยผลิตต้นน้ำ และโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกต่อเนื่อง ที่ใช้วัตถุดิบจากโรงงานโอเลฟินส์ ได้แก่ PE, PP และ MEG

 

นายบวร กล่าวถึงภาพรวมผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2557 ว่า บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอลจำกัด (มหาชน) มีรายได้ 152,401 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,085 ล้านบาท คิดเป็น 1.35 บาท/หุ้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 46 จากไตรมาส 2/2556 ซึ่งมีกำไรรวมสุทธิอยู่ที่ 4,172 ล้านบาท และปรับตัวลดลงร้อยละ 3 จากไตรมาส 1/2557 ที่มีผลกำไรรวมสุทธิ 6,296 ล้านบาท ทั้งนี้ ในไตรมาส 2/2557 ธุรกิจการกลั่นและธุรกิจโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์พาราไซลีนราคาลดลงเนื่องจากอุปทานส่วนเกินในตลาด

 

สรุปราคาผลิตภัณฑ์กลุ่มธุรกิจต่างๆ ในไตรมาส 2/2557

 

กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ 106.13 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล  โดยมีสาเหตุหลักมาจากปัญหาความไม่สงบในยูเครนและตะวันออกกลางทำให้เกิดความไม่แน่นอนต่ออุปทานของน้ำมันดิบ โดย Market GRM อยู่ที่ 4.44 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 87 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2556

 

กลุ่มผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ ส่วนต่างราคาพาราไซลีนกับวัตถุดิบคอนเดนเสทลดลงมาอยู่ที่ 333 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ลดลงร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2556 และลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2557 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากอุปทานส่วนเกินในตลาดของผลิตภัณฑ์พาราไซลีนที่ยังอยู่ในระดับสูง จากกำลังการผลิตใหม่ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการขยายตัวของตลาดเพิ่มไม่ทันกำลังการผลิตใหม่

 

กลุ่มผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดย Adjusted EBITDA ในไตรมาส 2/2557 ของธุรกิจกลุ่มนี้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2556 ร้อยละ 5 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2557 ร้อยละ 16  เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น  โดยเฉพาะ HDPE ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากไตรมาส 2/2556 และ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากไตรมาส 1/2557 ประกอบกับปริมาณขายได้เพิ่มขึ้นตามอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น

 

 ในไตรมาส 2/2557 บริษัทฯ ยังมีผลกำไรจากสต็อกน้ำมันดิบ และ NRV (Net Realizable Value) สุทธิรวม 1,180 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นระหว่างไตรมาส อีกทั้งยังรับรู้กำไรจากการบริหารความเสี่ยงผลิตภัณฑ์ (Commodity Hedging) จำนวน 411 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ ในไตรมาส 2/2557 บริษัทฯ ต้องตั้งสำรองค่าใช้จ่ายตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัท Vencorex ในประเทศฝรั่งเศส โดยแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจดังกล่าวบริษัทฯ จะทำการปรับปรุงหน่วยผลิต TDI (Toluene Diisocyanate) ในประเทศฝรั่งเศส ให้เป็นหน่วยผลิต HDI (Hexamethylene Diisocyanate) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยคิดเป็นค่าใช้จ่ายส่วนของ PTTGC ในสัดส่วนร้อยละ 51 ประมาณ 1,142 ล้านบาท

 

 สำหรับการออกหุ้นกู้เงินบาทชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันและมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 นั้น ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก ทั้งนี้ การออกหุ้นกู้ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับโครงการลงทุน เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน และชำระคืนหุ้นกู้และหนี้เดิม

 

พีทีที โกลบอล เคมิคอล ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ โดยมีธุรกิจหลัก 7 กลุ่ม ปัจจุบันมีกำลังการผลิตเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมีรวม 8.75 ล้านตันต่อปี และมีกำลังการกลั่นน้ำมันดิบและคอนเดนเสทรวม 280,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจสู่ธุรกิจเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialties Chemical) และธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green)

 

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ