FINANCE & INVESTMENT

กฟภ. เล็งร่วมบริษัทผลิตไฟฟ้าไทย รุกลงทุนต่างประเทศ
POSTED ON 24/06/2557


 

ข่าวการเงินการลงทุน - นายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือพีอีเอ เปิดเผยว่า จากที่พีอีเอได้จัดตั้ง บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ขึ้นมา เพื่อรองรับการขยายงานทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากเห็นว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าทั่วโลกยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเป็นการสร้างการเติบโตให้กับพีอีเอทางหนึ่ง ซึ่งการออกไปลงทุนในระยะแรกนั้น อาจจะต้องจับมือกับพันธมิตรต่างๆ ในการร่วมทุน เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง

 

โดยที่ผ่านมาได้มีการเจรจากับผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าหลายราย เพื่อขอให้ PEA ENCOM เข้าไปร่วมถือหุ้นในโครงการต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นโครงการของ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน), บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (จีพีเอสซี) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท., บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำหัด (มหาชน) หรือเอ็กโก และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ที่มีการลงทุนอยู่ในต่างประเทศหากพันธมิตรดังกล่าวตกลง ทาง PEA ENCOM พร้อมจะร่วมลงทุนทันที

 

ส่วนความคืบหน้าการลดสัดส่วนหุ้นใน PEA ENCOM ซึ่งปัจจุบัน กฟภ.ถือ 100% อาจขายหุ้นให้เอ็กโกหรือราชบุรีฯ สัดส่วนกว่า 30% และเสนอขายหุ้นให้พนักงานของ กฟภ.ถือหุ้นผ่านสหกรณ์สัดส่วน 20% จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของ กฟภ.อยู่ที่ไม่เกิน 50% ขณะนี้ทางที่ปรึกษาอยู่ระหว่างทำแผนผู้ถือหุ้นใหม่ คาดว่าจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้ เพื่อให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาต่อไป

 

สำหรับแผนลงทุนของ PEA ที่ได้รับผลกระทบทางการเมืองช่วงที่ผ่านมา มีหลายโครงการที่ล่าช้าออกไป เพราะติดการขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เช่น โครงการลงทุนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 เพื่อเสริมความมั่นคงด้านไฟฟ้า รวมการลงทุน 1.2 แสนล้านบาท และโครงการลงทุนในต่างประเทศของ PEA ENCOM มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท รวมถึงโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำในสปป.ลาว ของ PEA ENCOM ที่ร่วมกับการไฟฟ้าลาว ขนาด 5 MW มูลค่า 240 ล้านบาท, โครงการกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศจำนวน 8 พันล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงการที่ดำเนินการไปแล้ว เป็นต้น

 

ขณะที่การดำเนินงานด้านพลังงานทดแทนยังต้องรอการอนุมัติจาก คสช. อาทิ โครงการไบโอแก๊ส ที่กระบี่ ขนาด 5 MW โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 2 แห่ง ขนาด 3-4 MW ต่อแห่ง โครงการโรงไฟฟ้าขยะ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ซึ่งเบื้องต้นทาง PEA ENCOM ต้องการถือหุ้นในโครงการดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 40% เพื่อจะได้มีอำนาจในการบริหารจัดการ แต่หาก คสช.ไม่อนุมัติ ก็เตรียมปรับแผนเพื่อร่วมถือหุ้นไม่เกิน 25% ซึ่งจะร่วมทุนกับพันธมิตรต่อไป

 

สำหรับความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ชุมชน กำลังการผลิตรวม 800 MW ทาง PEA ได้ยื่นหนังสือไปยังกระทรวงพลังงานแล้ว เพื่อเข้าพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป เนื่องจากทาง คสช.ได้แต่งตั้งกรรมการ กพช.ชุดใหม่ ดังนั้น อาจจะกำหนดเงื่อนไขใหม่ เพราะมติ กพช.ที่ผ่านมากำหนดให้ใช้เงินจากกองทุนหมู่บ้าน และกู้เงินจากธนาคารออมสิน

 

ดังนั้น ต้องรอดูเงื่อนไขใหม่ที่จะออกมาก่อน อาทิ อาจให้เอกชนร่วมทุนกับกองทุนหมู่บ้านและ PEA ถือหุ้นในโรงไฟฟ้าโซลลาร์ชุมชนร่วมกัน ซึ่งทางเอกชนจะต้องเป็นผู้ลงทุนด้านเทคโนโลยี เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันยังติดปัญหาที่ชุมชนต้องเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า 100% ซึ่งการใช้เงินจำนวนมากเพื่อลงทุน ทำให้ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก นอกจากนี้ คาดว่าทางภาครัฐจะเลื่อนกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) โรงไฟฟ้าโซลาร์ชุมชนออกไปก่อน เพราะคงไม่ทันภายในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน

 

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ