FINANCE & INVESTMENT

ธุรกิจพลังงานทดแทนโต หนุนรายได้สูงขึ้น จ่ายปันผลเพิ่ม
POSTED ON 22/05/2557


 

ข่าวการเงินและการลงทุน - กลุ่มพลังงานทดแทน แนวโน้มจ่ายปันผลเพิ่ม "เด็มโก้" ประกาศจ่ายเพิ่มขึ้นเท่าตัว ขณะที่ "เอสพีซีจี" พร้อมจ่ายหลังปลดภาระทางการเงิน หนุนบริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอปันผลได้ เผยตั้งงบลงทุนปีนี้ 1,000 ล้านบาท เพื่อขยายลงทุนธุรกิจโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์รูฟท็อปในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเออีซี และญี่ปุ่น

 

จากการสำรวจการจ่ายเงินปันผลของหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทน พบว่า หลายบริษัทจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ และมีแนวโน้มการจ่ายปันผลมากขึ้น โดยบริษัทเด็มโก้ (DEMCO) มีการจ่ายเงินปันผลงวดผลการดำเนินงานปี 2556 ที่ 0.10 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้นจากงวดผลการดำเนินงานปี 2555 ที่จ่ายปันผล 0.05 บาทต่อหุ้น บริษัท โซลาร์ตรอน (SOLAR) มีการจ่ายเงินปันผลงวดผลการดำเนินงานปี 2556 ที่ 0.05 บาทต่อหุ้น จ่ายในระดับเดียวกับงวดผลการดำเนินงานปี 2555

 

บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) จ่ายปันผลงวดผลการดำเนินงานปี 2556 เป็นหุ้นในอัตรา 3 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ จากงวดผลการดำเนินงานปี 2555 ที่จ่ายเงินปันผลอัตรา 0.038 บาทต่อหุ้น บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) จ่ายปันผลงวดผลการดำเนินงานปี 2556 ที่ 0.02 บาทต่อหุ้น จากงวดผลการดำเนินงานปี 2555 ที่ 0.01 บาทต่อหุ้น ขณะที่บริษัท เอสพีซีจี (SPCG) ไม่มีการจ่ายเงินปันผล

 

นางสาววันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ เอสพีซีจี เปิดเผยว่า บริษัทฯ มั่นใจจะจ่ายเงินปันผลได้จากผลการดำเนินงานในครึ่งหลังของปีนี้ เป็นผลมาจากการปลดภาระทางการเงิน จึงช่วยให้บริษัทฯ มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะจ่ายเงินปันผล นโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัท คือการจ่ายปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ ซึ่งเราอยากให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนหุ้นบริษัท

 

ทั้งนี้ สิ่งที่เข้ามาปลดภาระต้นทุนทางการเงิน จะมาจากการเสนอขายหุ้นกู้ เอสพีซีจี โซลาร์ เพาเวอร์ แบรนด์ อายุ 5 ปี 1 เดือน ดอกเบี้ย 5.55% มูลค่าระดมทุน 4,000 ล้านบาท หลังจากหักงบลงทุนไปแล้ว ส่วนที่เหลือบริษัทจะนำไปชำระหนี้ของบริษัทที่มีอยู่ 2.6 พันล้านบาท ซึ่งการชำระหนี้จะช่วยให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่ถูกลง จากเดิมที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละ 12% หรือ มูลค่า 300 ล้านบาทต่อปี ลดลงมาเหลือ 5.5% หรือ 150 ล้านบาทต่อปี และยังเป็นตัวฉุดดึงไม่ให้หนี้สินต่อทุน (ดี/อี) ไม่ให้เกินระดับ 3 เท่า และยังมีเงินทุนเพื่อการลงทุนเหลืออยู่อีก 1,000 ล้านบาท

 

ส่งผลให้ผลการดำเนินงานปีนี้จะเติบโตก้าวกระโดด โดยการรับรู้รายได้ปีนี้ จะอยู่ที่ 3,500 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อน 40% เป็นผลมาจากขายไฟได้มากขึ้นจากจำนวนโซลาร์ฟาร์มที่เริ่มดำเนินงานได้มากขึ้น ปัจจุบันมีจำนวนโซลาร์ฟาร์มที่ขายไฟได้ 33 โครงการ จาก 36 โครงการ โดยปีนี้จะสามารถจ่ายไฟได้ทั้งหมดในไตรมาส 2 และจะรับรู้รายได้เต็มปีในปี 2558

 

ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งงบลงทุนปีนี้ 1,000 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนธุรกิจโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์รูฟท็อปในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกลุ่มเออีซี และญี่ปุ่น เพื่อขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในอนาคต โดยตั้งเป้าจะมีส่วนแบ่งของเมกะวัตต์ใน 5 ปีข้างหน้าจากต่างประเทศ 30%

 

"บริษัทมีแผนจะขยายธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศญี่ปุ่นที่จะมีการเปิดโครงการโซลาร์รูฟประมาณ 3 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งมีมูลค่าโครงการสูงมาก ทำให้เห็นโอกาสในการลงทุน ซึ่งเราถือว่าเป็นผู้นำของภูมิภาคในการทำพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์"

 

ส่วนภาพของบริษัท 5 ปีข้างหน้า บริษัทฯ คาดว่าจะมีจำนวนเมกะวัตต์ในมือมากกว่า 500 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ 260 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยจำนวนเมกะวัตต์ที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากตลาดต่างประเทศเป็นหลัก อีกทั้งยังมีโครงการในไทยเข้ามาช่วยผลักดัน ทั้ง โครงการ 1 ตำบล 1 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทฯ คาดหวังส่วนแบ่งที่ 500 เมกะวัตต์ จาก 800 เมกะวัตต์ และ โครงการโซลาร์ฟาร์มอีกประมาณ 500 เมกะวัตต์

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ