FACTORY VISIT

APF ผู้นำนวัตกรรมอาหารไทยสู่ตลาดโลก ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
POSTED ON 06/11/2556


 

อำพลฟูดส์ (APF) ผู้นำนวัตกรรมอาหารไทยและเครื่องดื่มของไทย ไม่ได้เป็นเพียงผู้มอบคุณค่าด้านโภชนาการให้แก่คนทั่วโลกเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นผู้สร้างสรรค์โครงการดีๆ เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมและเปลี่ยนแปลงสังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น

 

บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพเน้นการวิจัยและพัฒนา อาหารด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตผลทางเกษตรของเกษตรกรไทย มุ่งมั่นพัฒนาอาหารที่มีคุณภาพเพื่อความสุข ความสะดวก และสุขภาพที่ดีแก่ผู้บริโภคทั่วมุมโลก ภายใต้แนวคิด “รสชาติแห่งคุณค่า”

 

นายเกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสสิ่ง จำกัด กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของอำพลฟูดส์ว่า เราเริ่มต้นจากการเป็นนักธุรกิจที่มุ่งแสวงหาผลกำไร ทำธุรกิจมาเป็น 10 ปี พบว่าเหนื่อยมาก การเดินทางขององค์การเหมือนกับคนหลงทาง หลงไปการต่อสู้กับผลกำไร เร่งทำยอดขาย 

 

กระทั่งวันหนึ่งในช่วงปี 2547 บริษัทฯ เริ่มอยากปรับเปลี่ยนกระบวนการภายในองค์กร โดยเริ่มจากการเชิญที่ปรึกษาหลายที่เข้ามาเพื่อสำรวจองค์กร ปรากฏว่า เราได้ค้นพบหลายเรื่องที่สำคัญ หนึ่งในนั้นคือคำกล่าวของอาจารย์ที่ปรึกษา ท่านได้กล่าวหลังจากเดินชมโรงงานเรียบร้อยแล้วว่า “โรงงานคุณมีทองหล่นที่พื้นเยอะแยะ” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเราก็ปรับเปลี่ยนกระบวนการภายในองค์กรใหม่ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ปี 2547-2553 เป็นเวลา 6 ปี 

 

 

การทำระบบจัดการสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร 

 

เราพยายามทำให้พนักงานมีส่วนร่วม โดยตั้งทีมขึ้นมาเพื่อทำเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ การจัดการสิ่งแวดล้อมของเรานั้นทำให้พนักงานสามารถทำงานตามระบบได้ง่ายมากขึ้น ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกระบวนการจัดการภายในทำให้บริษัทฯ สามารถลดของเสียจากการผลิตได้ค่อนข้างมาก และผลิตสินค้าได้เพิ่มขึ้น รวมถึงพนักงานมีความพอใจสูงขึ้น 

 

นอกจากนี้ เรายังมีการนำมาตรฐานสากล SA8000 มาใช้ ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านแรงงาน เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถสร้างกระบวนการภายในที่เข้าไปรับผิดชอบพนักงานได้สูงกว่ากฎหมายแรงงาน 

 

อีกทั้งเรายังพบว่า งบประมาณในส่วนของสวัสดิการและการดูแลพนักงานในเรื่องต่างๆ นั้น ไม่ได้เป็นสิ่งสูญเปล่าหรือทำให้องค์กรขาดทุนแต่อย่างใด เพราะสวัสดิการต่างๆ นั้นช่วยให้พนักงานรู้สึกผูกพันและเต็มใจที่จะทำงานให้องค์กรมากยิ่งขึ้น เป็นการรักษาพนักงานที่มีทักษะและประสบการณ์ให้อยู่คงกับองค์กรได้นาน 

 

นำ ISO 26000 มาใช้

 

อำพลฟูดส์ ได้นำเอา ISO 26000 เข้ามาปรับใช้ภายในองค์กร และสามารถนำไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะสอดคล้องกับพื้นฐานกระบวนการจัดการขององค์กรอยู่แล้ว ซึ่งก็คือ ISO14000 และ SA8000 แต่สิ่งสำคัญคือเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่อยู่เหนือกฎหมายบังคับ 

 

นายเกรียงศักดิ์ เปิดเผยว่า การทำ CSR ของบริษัทฯ เป็นการผสมผสานกระบวนการสร้างคุณค่าของกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ และบริการลูกค้าขององค์กรอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นกระบวนการจัดการภายในองค์กรที่รวมการพัฒนา การปรับปรุงกระบวนการผลิต ให้มีผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมภายในและภายนอกองค์กรน้อยที่สุด และในขณะเดียวกันก็สร้างผลเชิงบวกให้มากที่สุด

 

ดูแลการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ 

 

APF ได้เริ่มทำการลดคาร์บอนโดยการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์แล้ว (Life Cycle Assessment : LCA) และกำลังจะก้าวสู่การคิดและทำคาร์บอนฟุตปริ้นท์ ซึ่งต้องย้อนกลับไปตรวจสอบตั้งแต่ต้นน้ำของกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอนไปถึงปลายน้ำ รวมทั้งต้องดูเรื่อง Supply Chain ด้วย 

 

“เหตุผลที่ทำให้เราหันมาสนใจเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากปัจจุบันในต่างประเทศนั้นมีมาตรฐานบังคับใช้ โดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรป ทำให้ผู้ที่ต้องการส่งสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก ซึ่งถ้าบริษัทฯ ไม่มีการจัดทำเรื่องนี้ก็จะไม่สามารถส่งสินค้าไปได้” นายเกรียงศักดิ์ กล่าว 

 

“ในประเทศไทยอาจยังไม่คุ้นเคยกับมาตรฐานเหล่านี้ ซึ่งฉลากสีเขียวมีผลกระทบต่อยอดขายของสินค้าแล้วในต่างประเทศ โดยห้างสรรพสินค้าจะตั้งข้อกำหนดในการเข้าไปจำหน่ายด้วยว่าต้องมีฉลากสีเขียวอยู่หรือไม่” นายเกรียงศักดิ์ กล่าวเสริม 

 

ปัจจุบัน APF พยายามปรับองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยนำเรื่องของ Knowledge Management (KM) เข้ามาเพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ ไว้เป็นฐานข้อมูลให้แก่พนักงานได้เรียนรู้ และนำไปทำเรื่องของ Continues Improvement และเรื่องการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ทำให้ APF มีโครงการใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา เช่น โครงการกล่องวิเศษ, การผลิตถ่านอัดแท่ง, การผลิตเม็ดเชื้อเพลิงจากใยมะพร้าว ฯลฯ 

 

 

การทำงานร่วมกับเกษตรกร

 

วัตถุดิบสำคัญในการผลิตกะทิชาวเกาะ คือ มะพร้าว อำพลฟูดส์ได้เข้าไปช่วยเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว เพื่อช่วยแก้ปัญหาจากแมลงศัตรูพืช ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของการดำเนินธุรกิจขององค์กร โดยอบรมให้รู้วิธีการกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีธรรมชาติ ลดอันตรายจากการใช้สารเคมี สอนให้เรียนรู้ถึงความยั่งยืน จนนำไปสู่การรวมตัวของเกษตรกรร่วมลงทุนตั้งโรงเรือนในหมู่บ้านต่างๆ และโรงเรือนยังใช้วัสดุก่อสร้างจากโครงการกล่องวิเศษได้อีกด้วย 

 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้จัดทำธนาคารขยะ เพื่อลดของเสียภายในโรงงาน ทั้งนี้ เพื่อวัดปริมาณขยะแต่ละชนิด เราจะต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่ต้นทางการนำเข้ามาว่ามีปริมาณเท่าไหร่ และจะลดส่วนใดได้บ้าง การเริ่มโครงการธนาคารขยะถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้แยกขยะออกมาได้หมดทุกประเภท โดยเฉพาะพลาสติกที่กำจัดยาก 

 

การเตรียมความพร้อมสู่ AEC

 

ในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ AEC นายเกรียงศักดิ์ เผยว่า บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมโดยใช้ 3 แนวทางหลัก คือ (1) ปรับประสิทธิภาพ และลดต้นทุน การใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานที่สูงขึ้น ทำให้มีมาตรฐานมากขึ้น, (2) ปรับนวัตกรรม คือ การปรับกระบวนการผลิต เพื่อลดของเสีย เพิ่มปริมาณกะทิ และนวัตกรรมที่สามารถผลิตสินค้าใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และ (3) การสร้างตราสินค้าของอำพลฟูดส์ 

 

ส่วนแนวโน้มการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน ทางอำพลฟูดส์ได้เตรียมแผนที่เข้าไปลงทุนในประเทศพม่าไว้บ้างแล้ว เพราะเป็นประเทศที่ไม่ไกลจากไทยมากนัก อยู่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา มีความคุ้นเคยกัน ค่าแรงไม่สูง ซึ่งตอนนี้อยู่ในกระบวนการศึกษาและสำรวจเท่านั้น 

 

ทิศทางธุรกิจปี 2556

 

การดำเนินธุรกิจในปี 2556 นั้น บริษัทฯ จะให้ความสำคัญกับนวัตกรรม โดยเพิ่มสินค้าใหม่สู่ตลาดกว่า 20 ชนิด และทำการทดสอบตลาด อาทิ สินค้าในกลุ่ม Virgin Oil, น้ำนมข้าวผสมงาดำ, ครีมเทียมที่ผลิตจากกะทิ, น้ำนมข้าวผสมธัญพืชอื่นๆ และน้ำแกงพร้อมปรุง ประเภทอื่นๆ ตรารอยไทย

 

อีกทั้งยังจะเน้นการทำคาร์บอนฟุตปริ้นท์ และทำ ISO 26000 มาตรฐานการแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบของสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืนทางธุรกิจ และ ISO 51000 ระบบการจัดการพลังงาน ซึ่งตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่ 

 

“สำหรับอัตราการเติบโตในปี 2556 ขึ้นอยู่กับการออกสินค้าใหม่ในแต่ละปี โดยในปี2555 เราตั้งเป้าไว้ที่ 2,500 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย เพราะในช่วงที่ผ่านมาได้เกิดวิกฤตขาดแคลนมะพร้าว ส่งผลให้เราต้องนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย และทำให้ยอดขายไม่เป็นตามที่ตั้งใจไว้ ส่วนในปี 2556 นี้ เราตั้งเป้าไว้ที่ 3,400 ล้านบาท” นายเกรียงศักดิ์ กล่าวสรุป 

 

ผลิตภัณฑ์ของอำพลฟูดส์

 

กะทิชาวเกาะ, กะทิอมควันเทียน, กะทิกลิ่นใบเตย ชาวเกาะ, กะทิ รอยไทย, กะทิเข้มข้น รอยไทย, ซอสผัดผงกระหรี่พร้อมปรุง ตรา รอยไทย, ซอสผัดกะเพราพร้อมปรุง ตรา รอยไทย, น้ำแกงพร้อมปรุง ตรา รอยไทย, ไอศกรีมหวานเย็น ตรา ไอซ์ดรีม, วี-ฟิท น้ำนมข้าวกล้องงอก 7 ชนิด, วี-ฟิท น้ำนมข้าวกล้องงอก, วี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหารน้ำนมข้าวยาคู, โปร-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหารน้ำลูกเดือย, คิงไอแลนด์ น้ำมะพร้าว 100%, ฟิต-ซี เครื่องดื่มจากบุกผสมน้ำผลไม้ 25%, ขนมเยลลี่ จากบุกคาราจีแนน ตรา ชาวเกาะ, วุ้นมะพร้าวในน้ำเชื่อม ตรา ชาวเกาะ, กะทิธัญพืช ลดไขมันอิ่มตัว, เลส-โช เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน สูตรลดโซเดียม, เครื่องดื่มปรุงรสชนิดโซเดียวและน้ำตาลต่ำ, สวีต สลิม วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล แคลอรี่ต่ำ, Coconut  Water  with Fruit Juice และ Coconut  Milk Beverage