FACTORY VISIT

อินโนเวชั่น กรุ๊ป มุ่งวิจัยนวัตกรรมยางไฮบริด พัฒนาและสานต่อผู้นำด้านนวัตกรรมยาง
POSTED ON 06/11/2556


 

ทุกวันนี้ยาง ถือเป็นวัตถุดิบหลักที่จำเป็นต้องใช้ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งนี้อุตสาหกรรมยาง เป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด และมีการวิจัย พัฒนายางในหลายทิศทาง เหมาะสมในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อสอบรับกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง 

 

ดร.บัญชา ชุณหสวัสดิกุล ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง “อินโนเวชั่น กรุ๊ป” ได้เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นว่า “ผมเรียนจบทางด้านเคมี และการบริหารธุรกิจและได้ทำงานอยู่บริษัทอื่น เริ่มตั้งแต่เชลล์ และมาทำงานเป็นผู้จัดการภาคที่ประเทศฮ่องกงของ ดูปองด์ ประมาณ 5 ปี รวมแล้วทำงานเก็บประสบการณ์ 12-13 ปี จากนั้นเริ่มมองอนาคตและเห็นว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้มีการเกี่ยวเนื่องและพัฒนาได้ จึงลาออกมาทำธุรกิจ โดยเริ่มต้นองค์กรเล็กๆ กับภรรยาเพียงสองคนด้วยเงินลงทุน 400,000 บาท” 

 

จากองค์กรเล็กๆ ที่เริ่มต้นจากคนเพียง 2 คน โดยในตอนแรกเป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายของดูปองด์ในประเทศไทย และเริ่มหาตลาดเอง ในชื่อ “บริษัทอินโนเวลชั่น จำกัด” และเกิดแนวความคิดต่อยอด ในส่วนของอุตสาหกรรมรองเท้า หรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกหลากหลายนั้นต่างต้องมีการพัฒนา จึงรวบรวมเงินทุนส่วนหนึ่งสร้างห้องทดลองขนาดเล็กขึ้นมา เริ่มวิจัยยางและพลาสติกอยู่ที่กรุงเทพฯ และจะเป็นการวิจัยยางเพื่ออุตสาหกรรมรองเท้าเป็นหลัก

 

 

บริษัทในเครือของอินโนเวชั่น กรุ๊ป

 

กลุ่มบริษัทอินโนเวชั่น ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2527 และพัฒนาองค์กรขึ้นมาจากองค์กรขนาดย่อม กระทั่งปัจจุบันกลุ่มบริษัทอินโนเวชั่น กลายเป็นผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมยางและโพลิเมอร์ ประกอบด้วย 9 บริษัท โดยแต่ละบริษัทดำเนินกิจการ และกิจกรรมที่แตกต่างกันไป ดังนี้ 

 

บริษัท ครีเอทีฟ โพลิเมอร์ จำกัด ให้บริการจัดหาและเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของ เซนต์โกเบ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ PTFE โค้ด เทกซ์ไทล์โปรดักส์ อีกทั้งยังเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับดูปองด์ในส่วนของ Mechanical Maintenance Product ได้แก่ Cares ส่วน Safety Product เช่น Kevlar และ Nomex อีกทั้งชุดป้องกันอุบัติภัยต่าง ๆ อาทิ ชุดดับเพลิง ชุดกันความร้อน ถุงมือกันบาด เทปซีล สายพานซีล และผ้าซีลที่ใช้งานบรรจุภัณฑ์

 

บริษัท พัฒนาธุรกิจสากล จำกัด ให้บริการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าพรีเมี่ยม ได้แก่ อุปกรณ์กอล์ฟ เครื่องแบบพนักงาน เพื่อรองรับความต้องการลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีทีมออกแบบและการตลาดที่มีประสบการณ์ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามาโดยตลอด

 

บริษัท เคมี อินโนเวชั่น จำกัด เป็นผู้นำในกลุ่มเคมีภัณฑ์ซึ่งได้รับความไว้วางใจให้เป็นตัวแทนของบริษัทชั้นนำ อย่าง DuPont Performance Elastomer ดูปองด์ teflon ดูปองด์ Kevlar ในผลิตภัณฑ์ Viton fluroelastomer Vamac ethylene acrylic elastomers  Neoprene polychloroprene  และ ดาวเคมิคอล ได้แก่ Nordel  Engage รวมทั้งสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมยาง สารเสริมประสิทธิภาพในพลาสติก ของดูปองด์ อินดัสเตรียล โพลิเมอร์ โดยใช้เทคโนโลยีพิเศษ และทีมเชี่ยวชาญพิเศษ ในการพัฒนาสินค้า ตามความต้องการของลูกค้า 

 

กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ประกอบด้วย บริษัท พี ไอ อินดัสตรี จำกัด บริษัท แพน อินโน เวชั่น จำกัด บริษัท ครีเอทีฟ โพลิเมอร์ส จำกัด บริษัท ไทย-นิฮอน ซีล จำกัด โดยเป็นกลุ่มโรงงานที่รองรับการผลิตรับเบอร์คอมปาวด์ และพลาสติกคอมปาวด์ 50,000 ตัน/ปี จนถึงชิ้นส่วนยาง และยางขึ้นรูป เช่น โอริง ซีลต่าง ๆ ได้รับ ISO BS OHSAS 18001:2007 ISO 9001:2008 TIS 18001:1999 ISO 14001:2004 

 

กลุ่มโรงงานมีความสามารถผลิตยางได้ทุกประเภทที่ใช้ในอุตสาหกรรม ตั้งแต่คุณภาพทั่วไปจนถึงคุณภาพสูง Chemical Masterbatch และพลาสติกคอมปาวด์ เช่น เทอร์โมพลาสติกคอมปาวด์ ครอบคลุมในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมรองเท้า รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ มากมาย 

 

นอกจากนี้แล้วโรงงานของเรายังได้รับรองคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ โดยมีศูนย์การวิจัย Technical Center พัฒนาโพลิเมอร์ส และยางที่มีเครื่องมือทันสมัยพร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางคอยให้บริการกับลูกค้าได้ทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ ใน 4-5 กลุ่มงาน คือ ด้าน Rubber ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท, ด้าน Plastic ซึ่งจะเป็นกลุ่มธุรกิจในอนาคต, ด้าน Coating ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะ, ด้าน Nanotechnology เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตของบริษัท และกลุ่มสุดท้าย คือการสร้าง Technology Center โดยรวบรวมความรู้ด้านโพลิเมอร์ และเทคโนโลยีในการผลิตขององค์กร Technology Center นี้ น่าจะนำมาซึ่งการพัฒนาขีดความสามารถตั้งแต่ความรู้พื้นฐาน เทคโนโลยีด้านโพลิเมอร์ เทคโนโลยีการผลิตด้วยระบบที่ทันสมัยที่สุด ประสานกับ simulation program จะทำให้บริษัทกลุ่มอินโนเวชั่นเข้าไปสู่อีกขั้นของเทคโนโลยีด้านโพลิเมอร์ 

 

กำลังการผลิต อินโนเวชั่น กรุ๊ป

 

กำลังการผลิตโดยรวมของบริษัททั้งหมดอยู่ประมาณ 70,000 ตันต่อปี แบ่งเป็น 

 

โรงงาน พีไอ อินดัสตรี จำกัด (1991) ส่วนมากจะเป็นเครื่องผสมยาง  ซึ่งผลิตคาร์บอนมาสเตอร์แบตช์ กำลังการผลิต 15,000 ตันต่อปี และจะเป็น FKM Compound 240 ตันต่อปี ซึ่งเป็นพวกไวตรอน เป็นยางพิเศษ พวกนี้มีราคาแพง เราใช้อุณหภูมิเป็นตัวควบคุม  

  

โรงงานแพน อินโนเวชั่น (2003) ผลิตคาร์บอนมาสเตอร์แบต  กำลังการผลิต 17,000 ตัน ฟีลเลอร์ คัลเลอร์มาสเตอร์ เแบต เป็นพวกยางสีประมาณ 9,000 ตันต่อปี และเป็น Plastic Couding ประมาณ 6,000 ตันต่อปี 

 

โรงงานครีเอทีฟโพลิเมอร์ (2009) ยังจะใช้เครื่องผสมยาง กำลังการผลิตโดยรวมของ คาร์บอนมาสเตอร์แบตช์ประมาณ 10,000 ตันต่อปี 

 

โรงงานไทย-นิฮอน ซีล (โรงงานพีไอ อินดัสตรี 2) เราจะใช้เครื่องอินเตอร์มิคเซอร์ เป็นอินเตอร์แมชชิ่ง ที่มาจากเยอรมนี เป็นเครื่องจักรใหม่ของเรา มีกำลังการผลิตของคาร์บอนแบล็คมาสเตอร์แบตช์ประมาณ 30,000 ตันต่อปี และคัลเลอร์มาสเตอร์แบตช์ประมาณ 9,000 ตันต่อปี โดยใช้ระบบเครื่องจักร แบบ Automatic Feeding  

 

โดยกลุ่มลูกค้าจะเป็นส่วนของบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทย 60% และบริษัทในไทย 30% และส่งออก 10% เช่น มาเลเซีย อเมริกา ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ กว่า 60-70% และกำลังขยายตลาดต่างประเทศ โดยคอมปาวด์ยางนี้ได้ส่งออกไปประเทศต่างๆ ในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆ

 

 

การควบคุมการผลิตในโรงงาน 

 

ในโรงงานของเราจะมีการควบคุมทุกขั้นตอนด้วยคอมพิวเตอร์ซึ่งจะมีตัวควบคุมอยู่หนึ่งตัว ทำหน้าที่ส่งข้อมูลทุกอย่างไปทุกขั้นตอน ทั้ง 4 โรงงานเราใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมเหมือนกันหมด 

 

เริ่มด้วยการรับวัตถุดิบ เมื่อมาถึงแผนกแวร์เฮาส์จะตรวจสอบในเบื้องต้นก่อน ถึงลักษณะของสินค้า ขนาด จำนวนต่าง ๆ ตามพื้นฐานทั่วไป จากนั้นพวก QA จะตัดยางไปตรวจสอบคุณสมบัติว่าได้ตรงตามที่สั่งไปหรือไม่ หากได้ตรงตามต้องการ ก็จะรับรองและประทับตรารับของ และปริ้นท์บาร์โค้ดออกมา จากนั้นจะตรวจสอบว่า ล็อต น้ำหนัก ว่าถูกต้องตรงตามโค้ดหรือไม่ และถ้าทุกอย่างผ่าน ก็จะจัดเก็บเข้าคลังต่อไป 

 

โดยในแวร์เฮาส์จะควบคุมด้วยระบบเฟิสต์อิน เฟิสต์เอาท์ในการเอาไปใช้ โดยผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์เหมือนกัน เช่น มีสินค้า 3 ล็อต ล็อตที่เข้าไปก่อนคือ ล็อตที่ 3 จะถูกเรียกออกมาใช้ก่อนส่วนล็อตที่ 1 และ 2 จะถูกล็อกไม่สามารถนำออกมาใช้ได้

 

ส่วนของวัตถุดิบมีทั้งหมด 4 ประเภท คือ พวกคาร์บอนฟิลเลอร์ โพลิเมอร์ ออยล์ และเคมิคอล ซึ่งการนำไปชั่งใช้แต่ละแบบ เราจะใช้ระบบคัมบังซิสเต็ม โดยเราจะใช้ชั่งโพลิเมอร์ และเคมีที่เราเป็นแบบแมนนวล ส่วนคาร์บอน และออยล์เราจะใช้ Automatic Feeding

      ควบคุมทุกกระบวนการผลิตแบบ “คัมบัง”  

 

ในระบบคัมบัง สมมติว่าเราจะชั่งเคมีหนึ่งตัว  เราจะต้องดูสูตรในการผลิต รหัสวัตถุดิบ น้ำหนักที่ต้องการ และบวกลบได้เท่าไหร่ ถ้าน้ำหนักที่ชั่งอยู่ในส่วนที่รับได้ ก็จะบันทึกลงได้คอมพิวเตอร์เพื่อการสอบกลับของ QA แต่ถ้ามีอะไรผิด เช่น วัตถุดิบ หรือน้ำหนักผิด คอมพิวเตอร์จะเตือนขึ้นมา แล้วเราจะไม่สามารถชั่งน้ำหนักอื่นต่อไปได้ 

 

เมื่อผ่านขั้นตอนการชั่งแล้ว เราจะมารับรองอีกครั้งด้วยน้ำหนักโดยรวม  จะมีทั้งเคมิคอลและโพลิเมอร์ มาตรวจสอบเพื่อรับรองอีกทีด้วยระบบคัมบังเหมือนเดิม ถ้าเกิดผ่านเราจะรับรองลงเครื่องมิคเซอร์ ซึ่งเครื่องมิคเซอร์จะต้องควบคุมสภาพการผสม พวกพารามิเตอร์ที่เราจะควบคุม คือพวกอุณหภูมิ หลังจากนั้นปล่อยลงสู่ลูกกลิ้ง เพื่อทำการดิสพัสชั่นอีกทีหนึ่ง เป็นการควบคุมน้ำเข้า น้ำออก ที่จะหล่อลูกกลิ้ง เพื่อออกขนาดยาง ออกมาเป็นแผ่น แล้วจะช่วยในการควบคุมความหนาของแผ่นยาง จากนั้นจะมีการตัดตัวอย่างที่ได้ ส่งให้ QC เมื่อ QC ตรวจสอบแล้ว หากหลุดสเปค ก็จะกดสัญญาณเพื่อหยุดไลน์การผลิตทันที แล้วนำเอาป้ายสีส้มไปติดที่ยาง จากนั้นฝ่ายผลิตจะแยกยางออก เมื่อตรวจตัวอย่างผ่าน จะเข้ากระบวนการขจัดพวกโลหะ เหล็ก ไม่ให้ปนไปกับคอมปาวด์ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการแพ็ค (pagking station)

 

ในกระบวนการบรรจุนี้ เราจะมีการควบคุม ตัวเลขคอมปาวด์  (ชื่อสูตร ชื่อล็อตของคอมปาวด์)  และพวกสี พวกลังบรรจุ สีพลาสติกที่คลุม ทุกอย่างจะมีการบันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนหลับได้ เมื่อเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายผลิตจึงจะปริ้นบาร์โค้ดออกมาอีกครั้งเพื่อให้ QC ตรวจสอบ โดย QC จะต้องตรวจสอบโดยละเอียดอีกครั้งทั้งน้ำหนัก สี ขนาด ทุกอย่าง แล้วจึงมีตราประทับว่า OK จึงจะสามารถส่งให้ลูกค้าได้ 

 

สำหรับในตัวอย่างที่เราตัดส่งไป เราตรวจสอบดูว่าเคมีที่เราใส่ไป ถึงการกระจายตัว ส่วนผสม และสินค้าที่สำเร็จแล้ว เราจะต้องตรวจสอบว่า ถูกต้องตามความต้องการของลูกค้าหรือไม่ (ในห้องอุณหภูมิต่ำกว่าหรือเท่ากับ 27°C)กระบวนการสุดท้ายก่อนส่ง ต้องมีการรับรองจาก QC และก่อนส่งสินค้า จะมีตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง จึงจะสามารถนำสินค้าส่งยังลูกค้าต่อไปได้ 

      นวัตกรรมยาง “ไฮบริด”

 

ผมมองในว่าภายใน 5 ปี รถยนต์ในอนาคตคือ รถไฟฟ้า คนเริ่มหันมาสนใจไฮบริด คือไฟฟ้า ผสมเครื่องยนต์ แล้วอินโนเวชั่น กรุ๊ป จะทำอะไร ในเมื่อมีอยู่เฉพาะยาง ถ้าเกิดมีรถไฟฟ้า องค์กรเราต้องไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อเปิดกระโปรงรถออกมาต้องเป็นยางทั้งหมด แต่ถ้าไม่มีเครื่องยนต์ เจอระบบอิเล็กทรอนิกส์ไฟฟ้า สายไฟ เป็นสายไฟกับพลาสติก แต่เป็นพลาสติกผสมระหว่างยางลูกผสม มีเครื่องยนต์ไฮบริดลูกผสมระหว่างไฟฟ้ากับเบนเซิน 

 

ดังนั้น พลาสติกอนาคต คือ ลูกผสมและยาง เราเรียก ไฮบริด เราต้องการคุณสมบัติของยาง แต่บางครั้งก็แข็งไป เราต้องการสินค้าที่มีคุณสมบัติของยาง แต่ให้ได้ขึ้นรูปแบบพลาสติก ยางคุณไม่สามารถรีไซเคิล พลาสติกรีไซเคิลได้ พลาสติกตัวใหม่กับยางผสม ต้องรีไซเคิลได้ คุณภาพผสมของความเป็นยางได้ ขึ้นรูปแบบพลาสติกง่าย รีไซเคิลได้ ซึ่งเราได้ลงมือการวิจัยมา มีโรงงานคอมปาวด์ยาง และคอมปาวด์พลาสติก เรากำลังทำวิจัยลูกผสม นั่นคือสิ่งที่เราต้องทำต่อไป

 

อนาคตของ อินโนเวชั่น กรุ๊ป

 

อุตสาหกรรมหลายอย่างส่งผลดีสำหรับประเทศไทย อย่างเช่น อุตสาหกรรมรองเท้า และนอกจากอุตสาหกรรมอาหารแล้ว ผมมองว่าอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง  และทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย แหล่งผลิตชิ้นส่วน ส่วนประกอบครบวงจร เหมือนกับเมืองดีทรอยต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และเมืองไทยปัจจุบันเรามีความพร้อมที่สุดในการผลิตยานยนต์ เราจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คิดว่ายอดการผลิตรถยนต์ 2.1 ล้านคันในปีนี้ น่าจะเป็นไปได้  

 

เมื่อเรามีการทำพลาสติกที่เหมาะสมกับรถยนต์รุ่นใหม่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์โดยเฉพาะ ซึ่งโรงงานใหม่ 2 โรงงานต้องเกิดขึ้นแน่นอน ตอนนี้เราผลิต 80,000 ตันต่อปี ถ้าขยายอีก จะเพิ่มเป็น 100,000 ตันต่อปี แต่เราจะมีการลงทุนในเรื่องของการวิจัยอยู่ตลอดเวลา วิจัย คือสิ่งที่ทำให้เราเราคงอยู่ และสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างแน่นอน

 

“เราต้องนำอนาคตมาวิจัย สิ่งที่ลูกค้าต้องการ เราต้องสร้างสิ่งที่คนอื่นไม่มี อย่างคู่แข่งเรา จีน มาเลเซีย อินเดีย มีความรู้เรื่องยางซึ่งรวมประเทศไทยเป็น 4 ประเทศที่ลูกค้าจะต้องตรวจสอบ และเขาเลือกเรา เราจึงต้องการลูกค้าที่จะบอกถึงการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี และช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ เราจึงมองถึงพลาสติกชนิดใหม่ ซึ่งจะต้องเป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมต้องการเป็นอย่างมาก อีกทั้งการสร้างพันธมิตรทางการค้า ในซัพพลายเชนให้ได้ เพื่อการเติบโตในระดับสากล” ดร.บัญชา กล่าวทิ้งท้าย