FACTORY VISIT

เปิดโรงงาน GPSC ผู้นำด้านการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าไอน้ำ
POSTED ON 30/04/2558


 

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าไอน้ำและสาธารณูปโภคต่างๆ รวมไปถึงการดำเนินธุรกิจในลักษณะเข้าถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าไอน้ำและสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องทั้งในและต่างประเทศ

 

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า GPSC ประกอบธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าไอน้ำและสาธารณูปโภคต่างๆ โดยมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นของโรงไฟฟ้าที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 ประมาณ 1,315 เมกะวัตต์ ไอน้ำรวมประมาณ 1,345 ตันต่อชั่วโมงน้ำเย็น รวมประมาณ 12,000 ตันความเย็น และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมรวมประมาณ 2,080 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง

 

นอกจากนี้ เมื่อรวมกับกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นของโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีกประมาณ 536 เมกะวัตต์ และไอน้ำรวมประมาณ 167 ตันต่อชั่วโมง บริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 1,851 เมกะวัตต์ไอน้ำ รวมประมาณ 1,512 ตันต่อชั่วโมงน้ำเย็น รวมประมาณ 12,000 ตันความเย็น และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมรวมประมาณ 2,080 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง

 

โดยกลุ่มลูกค้าหลักของเรา ได้แก่ กฟผ. กฟภ. และ กฟน. ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐซึ่งเป็นรายได้ที่มีความแน่นอน เนื่องจากเป็นการซื้อขายภายใต้สัญญาซื้อขายระยะยาวที่มีการกำหนดปริมาณและสูตรราคารับซื้อที่แน่นอน และลูกค้าอุตสาหกรรม

 

นอกจากนี้ นายนพดล ยังกล่าวเสริมว่า ล่าสุดได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจการใช้ประโยชน์ที่ดินภายในนิเวศอุตสาหกรรมวนารมย์ กลุ่ม ปตท. สำหรับการพัฒนาโครงการศูนย์ผลิตสาธารณูปการ แห่งที่ 4 (CUP 4) ในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จ.ระยอง โดยเป็นโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น (Cogeneration power Plant) ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 40 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไอน้ำประมาณ 70 ตันต่อชั่วโมง โดยมีแผนที่จะจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ เพื่อรองรับการเติบโตของโรงงานอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นภายในนิเวศอุตสาหกรรมวนารมย์ และนิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียง โดยโครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 3,670 ล้านบาท

 

อีกทั้งบริษัทฯ ยังได้วางแผนให้มีการเชื่อมต่อระบบจัดส่งผลิตภัณฑ์ไปยังศูนย์ผลิตสาธารณูปการแห่งอื่น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของระบบการผลิตและจำหน่ายของบริษัทฯ ให้สูงขึ้น ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่า การก่อสร้างของ CUP 4 Phase-I จะแล้วเสร็จพร้อมจ่ายสาธารณูปโภคได้ภายในปี 2560 พร้อมยังสามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติม รองรับความต้องการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

 

GPSC มุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจไฟฟ้าของภูมิภาคเอเชียด้วยการขยายการลงทุนและพัฒนาโครงการทั้งในและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายระยะสั้นที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มจากปัจจุบันอีก 600-1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2562 โดยเน้นการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าและลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น (Cogeneration Power Plant) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined Cycle Power Plant) และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจที่ตั้งไว้

 

 

โดย GPSC ได้กำหนดกลยุทธ์ในการเติบโตทางธุรกิจ เป็น 4 แนวทางหลักดังนี้ คือ

 

1. การเติบโตไปพร้อมกับการขยายธุรกิจของบริษัทในกลุ่ม ปตท. เพื่อสร้างความมีเสถียรภาพด้านไฟฟ้าและสาธารณูปโภคต่อกระบวนการผลิตของบริษัทต่างๆ ในกลุ่ม ปตท.

 

2. การเติบโตอย่างรวดเร็วผ่านการพัฒนาโครงการระยะสั้นหรือการเข้าซื้อกิจการ เพื่อให้ GPSC สามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ในระยะสั้น GPSC จึงมีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ก๊าซชีวภาพ และชีวมวล ซึ่งใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างค่อนข้างสั้น

 

นอกจากนี้ GPSC มีนโยบายที่จะเข้าซื้อกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน (Merger & Acquisition : M&A) ในโครงการผลิตไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ ทั้งที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วหรืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยล่าสุดได้เข้าลงทุนในบริษัท Ichinoseki Solar Power - 1 GK ในสัดส่วน 99% เพื่อดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 18 เมกะวัตต์ ตามที่ได้รับการอนุมัติจาก Ministry of Economy, Trade and Industry (METI) ของประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนที่จะยื่นขออนุญาตขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 20 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2560

 

3. การเติบโตโดยการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศและภูมิภาคใกล้เคียง เพื่อให้GPSC สามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ในระยะยาว GPSC จึงมีแผนที่จะพัฒนาและร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ ในประเทศและภูมิภาคใกล้เคียง เช่น เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา และอินโดนีเซีย เป็นต้น

 

4. การลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง นอกจากการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า GPSC มีแผนขยายธุรกิจไปยังธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น ธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าและแบตเตอรี่ (Energy Storage System and Battery) โดย GPSC ได้เข้าร่วมลงทุนใน 24M Technology Inc. ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา ประกอบธุรกิจหลักในการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ประเภทลิเทียม-ไอออน (Lithium-Ion) ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ และธุรกิจบริษัทจัดการพลังงาน (Energy Service Company : ESCO) ที่ให้บริการแบบครบวงจรด้านการอนุรักษ์พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน รวมทั้งการลงทุนพัฒนาโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า โดยมุ่งเน้นตลาดในต่างประเทศที่ยังไม่มีโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าที่ครอบคลุม เพื่อขยายความต้องการใช้ไฟฟ้าและเพิ่มโอกาสในการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าว ตลอดจนแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อต่อยอดจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของบริษัทฯ ให้เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ล่าสุด บริษัทฯได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 374.57 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ต่อหุ้น (พาร์) 10 บาทแล้ว โดยมี บล.เคที ซีมิโก้, บล.ฟินันซ่า และ บล.ทิสโก้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

 

ทั้งนี้ คาดว่า GPSC จะสามารถระดมทุนและเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) ได้ภายในช่วงไตรมาส 2/2558 โดยวัตถุประสงค์ในการเสนอขายหุ้นเพื่อจะนำเงินไปใช้ในการขยายกิจการในธุรกิจต่างๆ ของบริษัทฯ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของ GPSC

 

นพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC