FACTORY VISIT

ตราช้าง โชว์เทคโนโลยีการผลิตกระเบื้องหลังคาไร้แร่ใยหินรายแรกในประเทศ
POSTED ON 29/11/2556


 

ทุกวันนี้ คนไทยต้องดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นภัยใกล้ตัวที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายโดยที่เราอาจไม่รู้ตัว "แร่ใยหิน" หรือ "แอสเบสทอส" (Asbestos) ก็ถือเป็นหนึ่งในภัยใกล้ตัวที่คนไทยน้อยคนที่จะรู้จักถึงพิษภัยของมันว่าสามารถคร่าชีวิตของเราได้ หากสูดหายใจเอาแร่ใยหินเข้าไปสะสมในร่างกายเป็นปริมาณมาก

 

"แร่ใยหิน" ได้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่างๆ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมประเภทซีเมนต์ ผ้าเบรก คลัตช์ เสื้อผ้าป้องกันไฟหรือความร้อน กระดาษอัด และพลาสติกที่มีแอสเบสทอสเป็นส่วนประกอบ แต่ผลิตภัณฑ์ที่คนไทยได้ใช้กันอยู่บ่อยๆ ก็คือ กระเบื้องมุงหลังคาแบบลอนลูกฟูก ท่อระบายน้ำ กระเบื้องปูพื้น ฝ้าเพดาน ฝาผนัง ฉนวนกันความร้อน ผ้าเบรก ผ้าคลัตช์รถยนต์ ท่อน้ำร้อน หม้อไอน้ำ พลาสติกขึ้นรูปต่างๆ

 

 

ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของคุณภาพชีวิต “ตราช้าง” จึงได้นำเสนอเทคโนโลยีการผลิตกระเบื้องหลังคาไร้แร่ใยหิน ที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน ตอกย้ำความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมก่อสร้างรายแรกในไทย ด้วยการพัฒนานวัตกรรมการผลิตสินค้าในกลุ่มกระเบื้องหลังคาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพ ความแข็งแกร่ง  ทนทาน ปลอดภัย และตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่ Economy, Medium จนถึง High Segment

 

นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอความหลากหลายของสินค้าทั้งประเภทวัสดุและรูปลอนที่สวยงาม หลากหลาย ตอบโจทย์ในทุกสไตล์บ้าน (Contemporary, Modern, Thai, Natural) ผ่านการพัฒนานวัตกรรมสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านหลังคา ไม่เพียงแต่กระเบื้องหลังคาเท่านั้น  ตราช้างยังมุ่งพัฒนาอุปกรณ์หลังคาตราช้างเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้ประโยชน์หลังคาอย่างครบครัน ด้วย 4 ฟังก์ชั่นหลัก ทั้งกันร้อน กันรั่ว ปลอดภัย และอรรถประโยชน์ ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจและการใช้ประโยชน์ของหลังคาบ้านได้อย่างสมบูรณ์แบบมากที่สุด 

 

 

“เราลงทุนปรับเปลี่ยนส่วนเตรียมวัตถุดิบ โดยใช้งบลงทุนประมาณ 25 ล้านบาทต่อหนึ่งสายการผลิต โดยมีทั้งหมด 6 สายการผลิต มูลค่าโดยรวมประมาณ 150 ล้านบาท เพื่อพัฒนากระบวนการผลิต จนกลายเป็นผู้ผลิตกระเบื้องหลังคารายแรกที่ยกเลิกการใช้แร่ใยหินในกระบวนการผลิตครบทุกผลิตภัณฑ์ 100% ในปี 2550” นายสราวุฒิ สำราญทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ - มาร์เก็ตติ้ง เฮ้าส์ซิ่ง บิสซิเนส (Managing Director - Marketing Housing Business) ธุรกิจ SCG ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างกล่าว

 

จุดเปลี่ยนจากแร่ใยหินที่เป็นอันรายต่อสุขภาพ สู่นวัตกรรมเพื่ออนาคต

 

ในปี พ.ศ.2549 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization :  WHO) องค์กรนานาชาติเพื่อการวิจัยมะเร็ง (International Agency for Research on Cancer : IARC) และองค์กรแรงงานสากล (International Labor organization : ILO) ออกประกาศว่า แร่ใยหินเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดและเยื่อหุ้มปอด ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกปีละไม่ต่ำกว่า 90,000 คน โดยได้ระบุว่า แร่ใยหินทุกชนิดมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งปอด, มะเร็งเยื่อหุ้มปอด และเยื่อบุช่องท้อง (Mesothelioma) รวมถึงแอสเบสโตสิส (Asbestosis) ซึ่งเป็นโรคปอดเรื้อรังที่เกิดเฉพาะกับผู้ที่สัมผัสแร่ใยหินเท่านั้น อนึ่ง ปอดที่ถูกทำลายไปแล้วนั้นไม่สามารถรักษาให้กลับคืนมาดีได้ดังเดิม โดยระยะเวลาในการฟักตัวของโรคแอสเบสโตสิสนี้ยาวนานถึง 15-35 ปี

 

 

“ตราช้าง” ในฐานะองค์กรที่ยึดมั่นในความเป็นบรรษัทภิบาล มุ่งเน้นการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เริ่มปรับกระบวนการผลิตหลังคาลอนคู่ โดยพัฒนาสูตรการผลิตหลังคาไร้แร่ใยหินจากนั้นเป็นต้นมา และยกเลิกการใช้แร่ใยหินในทุกผลิตภัณฑ์ ทั้งสินค้าประเภทหลังคา, ฝ้า, ผนัง, พื้น และไม้สังเคราะห์ทั้งหมดโดยสิ้นเชิงในปี 2550

 

โดยตราช้างนับเป็นผู้ผลิตรายแรกในประเทศไทยที่ปรับเปลี่ยนมาใช้นวัตกรรมใหม่ที่เป็นมิตรต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานในโรงงาน ผู้บริโภค รวมถึงประชาชนทั่วไป จะปลอดภัยจากฝุ่นแร่ใยหินดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ข้อมูลจากInternational Ban Asbestos Secretariat ล่าสุดพบว่า ประเทศต่างๆ ในโลกจำนวนกว่า 54 ประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น, อิตาลี, เยอรมนี, ออสเตรเลีย, อิสราเอล, สเปน, ฝรั่งเศส และบรูไน เป็นต้น ได้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินอย่างสิ้นเชิง

 

ด้าน นายนพดล ประพันธ์ ผู้อำนวยการ บริษัท กระเบื้องกระดาษไทย จำกัด โรงงานสระบุรี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีที่เรานำมาทดแทนแร่ใยหิน คือ การนำเส้นใยสังเคราะห์ซึ่งเป็นเส้นใยโพลิเมอร์ที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ผ่านกระบวนการปั่นและสังเคราะห์ด้วยวิธีหลอมเหลว มีความทนทานต่อจุลินทรีย์ เชื้อรา แบคทีเรีย และสารเคมี ไม่ดูดน้ำ ผสมกับเซลลูโลสที่ทำมาจากไม้สน ผ่านกระบวนการผลิตที่มีลักษณะพิเศษ ทำให้กระเบื้องหลังคาที่ได้มีคุณสมบัติดีกว่าการใช้แร่ใยหิน

 

โดยกระเบื้องหลังคาดังกล่าวจะมีความเหนียวและยืดหยุ่นกว่าเดิมถึง 2 เท่า ลดความเสียหายจากการตกกระทบของแข็งบนที่สูง เช่น ลูกเห็บ ลูกมะพร้าว และการแตกหักจากการเจาะหรือติดตั้ง มีความแข็งแรงทนทานมาก และไม่หดตัว ปลวกไม่กิน รวมทั้งกันความร้อนได้ดีขึ้นกว่าเดิมถึง 5 เท่า ที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและร่างกาย

 

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานไทยให้ปลอดภัยตามมาตรฐานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ อีกทั้งยังได้หลังคาที่มีความแข็งแรงตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกระเบื้องซีเมนต์เส้นใยแผ่นลอน (มอก.1407-2540) อ้างอิงตามมาตรฐานสากลคือ ISO 9933 และผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิชาการคือ กรมโยธาธิการ, วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และสมาคมสถาปนิกสยามฯ โดนในปัจจุบันกำลังการผลิตของโรงงานโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 640,000 ตันต่อปี เป็นกระเบื้องหลังคารุ่นลอนคู่จำนวน 80% และอื่นๆ 20% 

 

 

นายสราวุฒิ กล่าวย้ำทิ้งท้ายว่า “ปัจจุบันกระแสของการใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของคนไทยสูงขึ้นมาก ซึ่งส่งผลมาสู่ความพิถีพิถันของผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายของแร่ใยหินไปสู่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสร้างหรือต่อเติมบ้านในวงกว้างมากขึ้น รวมถึงผู้รับเหมาก่อสร้างซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการสูดแร่ใยหินในขณะทำงานมากที่สุดให้มีความเข้าใจและหลีกเลี่ยงการใช้กระเบื้องหลังคาที่มีแร่ใยหิน เพื่อให้ปลอดภัยต่อสุขภาพของตนเอง”