FACTORY VISIT

โรแลนด์ ดีจี เปิดโรงงานผลิตนอกญี่ปุ่นแห่งแรกในไทย เสริมทัพส่งออกทั่วโลก
POSTED ON 29/11/2556


 

โรแลนด์ ดีจี คอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) ผู้นำในนวัตกรรมเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทแบบ Wide-format ได้ทำการเปิดโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทในไทย และเป็นที่แรกของโลก ซึ่งการเปิดโรงงานผลิตในนิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สินสาคร เฟส 2 ถือว่าเป็นการขยายฐานการผลิตของบริษัทฯ ไปยังต่างประเทศเป็นครั้งแรกของ โรแลนด์ โดยคาดว่าโรงงานผลิตแห่งใหม่นี้ จะเป็นฐานการผลิตหลักในภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางการส่งออกที่สำคัญของกลุ่มบริษัทฯ อีกด้วย

                 

โรแลนด์ ดีจี คอเปอเรชั่น ผู้นำในนวัตกรรมในเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท เครื่องมิลลิ่ง และเครื่องแกะสลัก รวมถึงเครื่องตัดไวนิล เครื่องสแกนเนอร์ 3D เครื่องทำแวกซ์ต้นแบบสำหรับผลิตเครื่องประดับ และเครื่องพิมพ์แบบใช้แรงกระแทกพื้นผิว นอกจากนี้ โรแลนด์ยังเป็นผู้ริเริ่มในการพัฒนา Print & Cut technology ซึ่งในปัจจุบันได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งของโลก และมียอดขายกว่า 125,000 เครื่องรอบโลก

 

Roland DG หรือ Roland Digital Group ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ.1981 ในประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นบริษัทลูกของบริษัท Roland Corporation ผู้เชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งก่อนที่จะจัดตั้งโรแลด์ ดีจี ขึ้นมานั้น เทคโนโลยีในด้านคอมพิวเตอร์ได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงต้นปี 1980 โดยบริษัทคอมพิวเตอร์ชั้นนำของโลก อาทิ Apple IBM และ NEC ต่างแข่งขันพัฒนาผลิตคอมพิวเตอร์ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรก

 

ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของผู้บริหาร พร้อมตะหนักถึงบทบาทและอิทธิพลของคอมพิวเตอร์ที่มีต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โรแลนด์ได้นำเอาความได้เปรียบทางดิจิตอลเทคโนโลยีมาพ่วงต่อกับเทคโนโลยีอันทันสมัยของคอมพิวเตอร์และพัฒนาจนได้สินค้าคุณภาพเพื่อเจาะตลาดใหม่ 

 

 

การก่อตั้งโรงงานแห่งแรกนอกประเทศญี่ปุ่น

 

นายมาซาฮิโร โทมิโอกะ ประธานบริษัท โรแลนด์ ดีจี คอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) กล่าวถึงการจัดตั้งโรงงานผลิตในไทยว่า เนื่องจากประเทศในแถบเอเชียมีการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีกำลังความต้องการมากขึ้น และมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในระยะยาว จึงทำให้เราเลือกตั้งโรงงานการผลิตในประเทศไทยเป็นแห่งแรก เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในแถบเอเชีย

 

อีกทั้งประเทศไทยยังมีระบบการขนส่งและการคมนาคมที่สะดวก บวกกับฝีมือแรงงานของที่มีคุณภาพ มีการสนับสนุนของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางด้านการค้าการลงทุนที่ทางกรมส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI มอบให้กับบริษัทต่างชาติที่มาลงทุน ทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งการลงทุนที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และเหมาะเป็นศูนย์กลางการส่งออกของบริษัทฯ

 

และด้วยเงินลงทุนกว่า 200 ล้านบาท การก่อสร้างของโรงงานแห่งแรกในไทย จึงได้เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 และเปิดทำการในเดือนตุลาคมในปีเดียวกัน และจากเหตุอุทกภัยน้ำท่วมในประเทศไทยและบริเวณโดยรอบกรุงเทพฯ ในปี 2554 ทางบริษัทฯ จึงได้คำนึงถึงการออกแบบโรงงานนี้เพื่อรองรับปัญหาน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยพื้นของโรงงานได้ยกสูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 1.9 เมตร และใต้อาคารมีเสา 300 ต้น ความยาว 26 เมตร คอยรองรับฐานด้านล่าง ในกรณีพื้นเกิดการยุบตัวของดิน

 

จากเหตุอุทกภัยน้ำท่วมในประเทศไทยเมื่อปี 2554 และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่นในปีเดียวกัน ทำให้กระบวนการผลิตวัตถุดิบถูกชะงักลง และส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อการผลิตสินค้าของบริษัทฯ เพื่อป้อนให้กับลูกค้า การที่บริษัทฯ ได้ตัดสินใจขยายฐานการผลิตมายังต่างประเทศอย่างเช่นประเทศไทยนั้น จะสามารถลดต้นทุนในการผลิต และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางด้านราคา รวมถึงลดความเสี่ยงในการผลิตและการจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบในกรณีการเกิดอุทกภัยธรรมชาติ

 

ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาสกุลเงินเยนได้อ่อนค่าลงไปบ้างแล้ว แต่หลังเหตุการณ์ล้มละลายของ Lehman Brother ในประเทศสหรัฐอเมริกา (หรือที่รู้จักในนามของ Lehman Shock) ทำให้ค่าสกุลเงินเยนเกิดการแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ดังนั้น บริษัทฯ จึงจำเป็นต้องหามาตรการมารับมือ และการที่โรงงานในประเทศไทยแห่งนี้ใช้สกุลเงินอื่นๆ นอกเหนือจากสกุลเงินเยน ในการจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนจะช่วยให้บริษัทลดความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยนลงได้

 

นอกจากนี้ จากการที่บริษัทได้ขยายตัวมาเป็นกลุ่มบริษัทระดับโลก เราได้ปรับโครงสร้างองค์กรของกลุ่มโดยรวม ภายใต้โครงการ “Global One” เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่ซับซ้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมด้านการบริหารจัดการได้อย่างรวดเร็วและมีความยืดหยุ่น

 

จากการปรับโครงสร้างองค์กรนี้ โรงงานในประเทศไทยจะกลายเป็นฐานปฏิบัติการระดับภูมิภาค และจะมีประสิทธิภาพสูงในการตอบสนองต่อความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาให้ได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนช่วยให้สามารถกำหนดราคาขายที่เหมาะสมกับตลาด สำหรับในอนาคตอันใกล้นี้ เราคาดหวังว่าโรงงานแห่งนี้จะมิได้ทำหน้าที่ด้านการผลิตและจัดซื้อจัดหาเท่านั้น แต่จะเข้ามามีบทบาทในการวางแผนและออกแบบผลิตภัณฑ์อีกด้วย

 

 

นายอะกิรา ซูซากิ ประธาน บริษัท โรแลนด์ ดิจิตอล กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่ได้ทำการเปิดโรงงานอย่างเป็นการในเดือนตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา ทางบริษัทฯ ได้นำเอา Digital YATAI ซึ่งเป็นนวัตกรรมการผลิตแบบ Cell Production System ที่พัฒนาโดยโรแลนด์ ดีจี มาใช้ในสายงานการเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็บแบบ wide-format รุ่น RE-640 และรุ่น RA-640 โดยนวัตกรรมนี้จะระบุการประกอบเครื่องอิงค์เจ็ทในแต่ละขั้นตอนอย่างละเอียดผ่านจอมอนิเตอร์ ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาด และได้สินค้าที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับสินค้าที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่น

 

ด้วยระบบนี้ยังช่วยให้เจ้าหน้าที่หนึ่งคนสามารถผลิตสินค้าอย่างง่ายดาย ซึ่งตั้งแต่เริ่มสายการผลิตในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาจนถึงปลายปี 2555 ทางโรงงานสามารถผลิตได้กว่า 400 ยูนิต และได้ทำการส่งออกเครื่องพริ้นเตอร์รุ่น RE-640/RA-640 เป็นล๊อตแรกในวันที่เดือนตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา ไปยังประเทศจีน อินเดีย แอฟริกาใต้ และทวีปยุโรป โดยภายในปีนี้บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถผลิตเครื่องพริ้นท์รุ่นดังกล่าวได้ถึง 3,700 ยูนิต และเพิ่มเป็น 5,000 ยูนิตในปี 2557 ส่วนการผลิตพริ้นเตอร์ในรุ่นอื่นๆ อาทิเครื่องพริ้นเมทเทอริท รุ่น VS Series คาดว่าจะเริ่มสายงานการผลิตในประเทศไทยภายในกลางปีนี้” 

 

การเปิดโรงงานผลิตในประเทศไทย ทำให้โรแลนด์สามารถผลิตสินค้าที่มีราคาย่อมเยาขึ้น และรองรับความต้องการของเครื่องพริ้นท์เตอร์ที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในตลาดเอเชีย ในปัจจุบันวัสดุและส่วนประกอบทุกชิ้นล้วนนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันบริษัทฯ ใช้วัสดุจากประเทศไทย 10% แต่คาดว่าภายในปีนี้บริษัทฯ มีแผนที่จะจัดซื้อวัสดุและส่วนประกอบหลักจากในไทย 30% และจะเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกเหนือจากนั้น ผู้ผลิตชิ้นส่วนวัตถุดิบของเราจากประเทศญี่ปุ่นยังมีแผนที่จะย้ายฐานการผลิตมายังไทย ซึ่งจะทำให้เราสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตได้มากขึ้น

 

เมื่อเร็วๆ นี้ ทางบริษัทฯ ได้ขยายธุรกิจไปยังตลาดด้านการแพทย์ โดยได้ผลิตอุปกรณ์เพื่อใช้ในทันตกรรม ซึ่งรวมถึงการครอบฟันชั้นใน (Coping) การครอบฟันด้านบน (crowns) การทำสะพานฟัน (full bridges) และการเดือยรองรับครอบฟัน (abutment) โรแลนด์ ดีจี ยังได้นำแนวคิดใหม่ของนวัตกรรม 3D ออกสู่ตลาด ด้วยเครื่องมิลลิ่ง 3D รุ่น iModela mini 3D mill ซึ่งเหมาะสำหรับตลาดสิ่งประดิษฐ์และของขวัญของชำร่วย ทางบริษัทฯ ได้ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ผลิตสินค้าป้อนสู่ตลาดรอบโลก ผลิตภัณฑ์ของโรแลนด์ สามารถเพิ่มคุณค่าในงานสร้างสรรค์และช่วยเปลี่ยนจินตนาการให้เป็นจริงได้

 

 

การจัดจำหน่ายในไทย

 

โรแลนด์ ดีจี ได้มีการจัดจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านพันธมิตรและคู่ค้าใน 133 ประเทศรอบโลก รวมถึงผู้แทนจำหน่ายหลักถึง 9 บริษัท โดยมี บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) รวมอยู่ด้วย ซึ่งนอกเหนือจากการเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายในไทยมานานกว่า 25 ปี บริษัท เอสวีโอเอ ยังเป็นบริษัทตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าของโรแลนด์ในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เขมร ลาว และเวียดนาม

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โรแลนด์ได้เห็นเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และด้วยเทคโนโลยีที่คิดค้นโดยโรแลนด์สามารถเปลี่ยนผลงานที่สร้างสรรค์โดยศิลปิน นักออกแบบ และคนที่ทำงานเกี่ยว Digital image จากจินตนาการให้เป็นสินค้าต้นแบบ หรืองานศิลปะที่น่าทึ่ง ซึ่งจินตนาการเหล่านี้ ได้สอดคล้องกับคำขวัญของบริษัท “Imagine” หรือ “จินตนาการ” ซึ่งเป็นคำสั้นๆ แต่มีความหมายอันลึกซึ้ง และเป็นแรงผลักดันให้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นได้  

 

“เป้าหมายสำคัญในการตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทยนั้น เราคาดหวังว่าต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต และศูนย์กลางการจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการได้อย่างครบถ้วน เราเชื่อว่า Imagine สามารถเปิดโลกกว้างอย่างไม่รู้จบ และจากจุดเริ่มต้นที่จินตนาการ ในวันนี้ โรแลนด์ ดีจี มุ่งมั่นที่จะทำงานพัฒนาผลิตสินค้าให้ลูกค้าของเราที่มีอยู่รอบโลก พร้อมเปลี่ยนจินตนาการให้เป็นจริงได้ ดั่งเช่นสโลแกนของบริษัทฯ Transforming their Imagination into Reality” นายโทมิโอกะ กล่าวทิ้งท้าย