ENVIRONMENT

5 องค์กรชั้นนำ ดันกรีนพลาส พาเลทไม้เทียมจากพลาสติกใช้แล้วเพื่องานขนส่งอุตสาหกรรม
POSTED ON 26/10/2564


 

 

5 องค์กรชั้นนำได้แก่ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็ม.บี.เจ. เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกันประกาศความสำเร็จในการพัฒนาพาเลทสำหรับคลังสินค้าและงานขนส่งอุตสาหกรรมซึ่งผลิตจากไม้เทียมผสมบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้ว เช่น ถุงเติมสบู่เหลว ถุงเติมน้ำยาปรับผ้านุ่ม แชมพูชนิดซอง ฯลฯ โดยได้เริ่มใช้งานจริงในโรงงานและคลังสินค้าของ Dow แล้วในขณะนี้ ซึ่งช่วยลดขยะได้กว่า 104 ตันต่อปีในระยะแรก และยังมีแผนจะช่วยส่งเสริมให้ไปสู่เชิงพาณิชย์ในบริษัทอื่นๆ ต่อไป

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย มุ่งมั่นนำความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของเราจากการดำเนินโครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนต่างๆ เข้ามาช่วยพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างตลาดให้กับพลาสติกที่ใช้แล้วซึ่งให้มีมูลค่าและมีการเก็บเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ สอดคล้องกับเป้าการทำงานด้านความยั่งยืนของ Dow ที่ตั้งเป้าว่า ภายในปี พ.ศ. 2573 เราจะช่วยทำให้ขยะพลาสติกจำนวน 1 ล้านตันถูกเก็บกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลผ่านการดำเนินการของบริษัทฯ และความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ”

 

นางชู ลิม รองประธานบริหาร ฝ่ายซัพพลายเชน กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทยและภาคพื้นอาเซียน กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ บริษัท ยูนิลีเวอร์ มีความยินดีที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนความสำเร็จด้านนวัตกรรม โครงการ “Greenplas Pallet for Green Industry” ที่จะเปลี่ยนถุงพลาสติกหลายชั้นที่มีมูลค่าต่ำและเป็นพลาสติกที่มักมีการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม ให้สามารถนำกลับมาเป็นวัตถุดิบหรือรีไซเคิลที่จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของบริษัทในการขับเคลื่อนนโยบายในการเรียกเก็บบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้วนำกลับมาเข้าสู่ระบบรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะเรียกเก็บบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วให้มีปริมาณที่มากกว่ายอดขายที่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายในปี 2568 ให้เป็นผลสำเร็จผ่านความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่จะทำให้สามารถนำขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งหลังการบริโภคเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่นี้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น”

นายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าววว่า เรามีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “Greenplas Pallet for Green Industry” ซึ่งเป็นโครงการร่วมกัน ระหว่าง DOW , ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย , บ.เอ็ม บี เจ. , มหาวิทยาลัยลาดกระบัง และบริษัท ทีพีบีไอ ที่ร่วมกันวิจัยและพัฒนาการผลิตภัณฑ์พาเลทไม้เทียมที่สามารถนำมาสู่กระบวนการ Upcycling จากพลาสติกที่ใช้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรจุภัณฑ์ชนิดซองสำหรับสินค้าอุปโภคและบริโภค เป็นขยะพลาสติกที่ยากในการรีไซเคิล

ในความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่การบริหารจัดการขยะพลาสติกได้อย่างครบวงจรตั้งแต่การจัดหาพลาสติกที่ใช้แล้วจากผู้บริโภค การแปรรูปพลาสติกที่ใช้มาเป็น ผลิตภัณฑ์พาเลทไม้เทียม ที่ผ่านการทดสอบพบว่ามีความแข็งแรง ทนทาน และสามารถใช้งานได้เทียบเท่าไม้จริง ดังนั้น โครงการนี้จึงถือเป็นหนึ่งในโครงการต้นแบบที่นำเอาหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มาใช้ได้อย่างแท้จริง นายบำรุง เจษฎาพงศ์ไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ม.บี.เจ.เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญที่ประสบความสำเร็จด้วยดี ในการดำเนินโครงการ “Greenplas Pallet for Green Industry” เนื่องจากวัตถุดิบเป็นขยะพลาสติกมัลติเลเยอร์ยากต่อการกำจัด ซึ่งถือว่ามีความท้าทายอย่างมากในการวิจัยและพัฒนาการนำขยะพลาสติกใช้แล้ว นำกลับมารีไซเคิลผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ไม้เทียมที่มีคุณสมบัติที่ดีและมีความแข็งแรงทนทาน สามารถนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์พาเลทสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ Greenplas Pallet นอกจากแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังสามารถสร้างประโยชน์ในด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ นับเป็นการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ ที่มีการนำขยะไปใช้ต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคมและส่วนรวมได้

ศาสตรตารย์ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า จากการพัฒนานวัตกรรม โครงการ “Greenplas Pallet for Green Industry” ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง (สจล หรือ KMITL) เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จนประสบผลสำเร็จในการนำไปใช้เชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของ สถาบันฯที่มุ่งมั่นที่ในการสร้างสรรนวัตกรรมระดับโลก ตามวิสัยทัศน์ “The World Master of Innovation” แพลตฟอร์มสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านที่ 1: Disruptive Curriculums “สร้างหลักสูตรทันสมัยและทันต่อการเปลี่ยนแปลง”เพื่อตอบโจทย์ Thailand 4.0 ด้านที่ 2: Disruptive Research and Innovation “สร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง” พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศส่งเสริมนวัตกรรมเชิงพาณิชย์

ด้านที่ 3: Creative Ecosystem “สร้างระบบนิเวศแห่งการสร้างสรรค์” สร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ทั้งเชิงกายภาพและเชิงดิจิตอล ด้านที่ 4: Talents Empowerment “เพิ่มขีดความสามารถนักศึกษาและบุคลากร” สร้างระบบพัฒนาเพื่อเติมเต็มศักยภาพให้บุคลากรและนักศึกษา และ ด้านที่ 5: Sustainable Development “พัฒนาองค์กรต่อเนื่องมุ่งสู่ความยั่งยืน” สร้างระบบนิเวศแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคต่อไปของโลก

 

อย่างไรก็ตามในระยะแรกเป็นการนำผลิตภัณฑ์ “กรีนพลาส พาเลท” ที่ได้ไปใช้งานในโรงงานและคลังสินค้าของ Dow และในระยะต่อไปจะมีการนำผลิตภัณฑ์เพื่อการขยายตลาดไปยังกลุ่มธุรกิจอื่นๆ โดยทั้ง 5 องค์กร จะมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ และรณรงค์ให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นในการคัดแยกถุงบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเพื่อเป็นวัตถุดิบ ซึ่งจะช่วยให้พลาสติกใช้แล้วถูกนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้างอันจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยมากยิ่งขึ้นต่อไป